อาหารเผ็ดลดอัตราตายรวม/จำเพาะโรค

อาหารเผ็ดลดอัตราตายรวม/จำเพาะโรค

BMJ 2015;351:h3942.

บทความเรื่อง Consumption of Spicy Foods and Total and Cause Specific Mortality: Population Based Cohort Study รายงานข้อมูลจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารรสเผ็ดเป็นประจำต่ออัตราตายรวม และอัตราตายจำเพาะโรค

ข้อมูลในการศึกษานำมาจาก China Kadoorie Biobank ซึ่งรวบรวมจากอาสาสมัครใน 10 ภูมิภาค ทั่วประเทศจีนระหว่างปี ค.ศ. 2004-2008 อาสาสมัครประกอบด้วยชาย 199,293 ราย และหญิง 288,082 ราย ซึ่งมีอายุระหว่าง 30-79 ปีที่พื้นฐานหลังคัดอาสาสมัครซึ่งเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และสโตรคที่พื้นฐานออก การศึกษาได้ประเมินความถี่ในการรับประทานอาหารรสเผ็ดร่วมกับรายงานของอาสาสมัครที่พื้นฐาน โดยผลลัพธ์หลัก ได้แก่ อัตราตายรวม และอัตราตายจำเพาะโรค

จากการติดตามในระยะ 3,500,004 person years ระหว่างปี ค.ศ. 2004-2013 (มัธยฐาน 7.2 ปี) พบการเสียชีวิตในอาสาสมัครชาย 11,820 ราย และหญิง 8,404 ราย โดย Absolute mortality rates ตามระดับการรับประทานอาหารรสเผ็ดเท่ากับ 6.1, 4.4, 4.3 และ 5.8 รายต่อ 1,000 person years สำหรับอาสาสมัครซึ่งรับประทานอาหารรสเผ็ดน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง, 1 หรือ 2 วัน, 3-5 วัน และ 6 หรือ 7 วันต่อสัปดาห์ ตามลำดับ การรับประทานอาหารเผ็ดมีความสัมพันธ์แบบกลับกับอัตราตายรวมทั้งในชายและหญิงภายหลังปรับตามปัจจัยเสี่ยง และจากอาสาสมัครทั้งหมดพบว่า hazard ratios ที่ปรับแล้วสำหรับการตายเท่ากับ 0.90 (95% CI 0.84-0.96), 0.86 (0.80-0.92) และ 0.86 (0.82-0.90) สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารรสเผ็ด 1 หรือ 2 วัน, 3-5 วัน และ 6 หรือ 7 วันต่อสัปดาห์ เทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารรสเผ็ดน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารรสเผ็ดน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้งพบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารรสเผ็ด 6 หรือ 7 วันต่อสัปดาห์ มี relative risk reduction เท่ากับ 14% ความสัมพันธ์แบบกลับระหว่างการรับประทานอาหารรสเผ็ดและอัตราตายรวมชัดเจนยิ่งขึ้นในผู้ที่ไม่ดื่มเหล้าเทียบกับผู้ที่ดื่มเหล้า (p = 0.033 for interaction) ซึ่งความสัมพันธ์แบบกลับนี้ยังสอดคล้องกับการตายเนื่องจากโรคมะเร็ง หัวใจขาดเลือด และโรคระบบทางเดินหายใจ

การรับประทานอาหารรสเผ็ดจนเป็นนิสัยมีความสัมพันธ์แบบกลับกับอัตราตายรวมและอัตราตายจำเพาะโรค โดยไม่เป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตอื่น