“สาธารณสุขไร้พรมแดน” สื่อภาษาไทย-ยาวี สู่พี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สาธารณสุขไร้พรมแดน”

สื่อภาษาไทย-ยาวี

สู่พี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ปัจจุบันพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ได้ยาก เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของภาษา ประกอบกับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานการณ์ความรุนแรง จึงเป็นการยากที่จะรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน ด้วยเหตุนี้ภาคีเครือข่ายทั้ง 11 หน่วยงาน จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน “สร้างภูมิ เสริมรักษ์” ขึ้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้พี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีช่องทางในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลเรื่องโรคระบาด โรคติดต่อที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยได้จัดทำสื่อเผยแพร่ความรู้ทั้งภาษาไทย และภาษายาวี โดยจัดทำสื่อใน 3 รูปแบบคือ 1. แผ่นพับ จำนวน 56,000 ใบ 2. แผ่นไวนิลขนาดเท่าโปสเตอร์ ซึ่งจะมีความคงทนต่อสภาพลมฟ้าอากาศใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 400 แผ่น และ 3. แผ่นบันทึกข้อมูลหรือแผ่นซีดี จำนวน 200 ชุด โดยในแผ่นบันทึกข้อมูลจะมีรายละเอียดของแผ่นพับและแผ่นไวนิลทั้งหมด เพื่อให้ผู้ที่ได้รับนำไปขยายผล โดยสามารถนำไปที่โรงพิมพ์และจัดพิมพ์ออกมาได้เลย

..อัฐพงศ์ พิชญาภรณ์ ผู้อำนวยการกองทรัพยากร กรมสรรพกำลังกลาโหม กล่าวถึงการดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน “สร้างภูมิ เสริมรักษ์” ว่า คณะทำงานได้จัดทำสื่อเผยแพร่ความรู้ทั้งภาษาไทยและภาษายาวี ครอบคลุมโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนและโรคประจำถิ่นรวม 14 โรค ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคชิคุนกุนยา โรคไข้เลือดออก โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน โรคโปลิโอ โรคหืด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคไวรัสตับอักเสบบี โรควัณโรค โรคไข้กาฬหลังแอ่น นอกจากนี้ยังได้ศึกษาข้อมูลและจัดทำเพิ่มเติมอีก 1 โรคคือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์สอีกด้วย โดยแต่ละโรคจะบอกถึงสาเหตุของโรค อาการ และการป้องกัน เพื่อนำไปเผยแพร่ให้แก่หน่วยงานและพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และมูลนิธิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สื่อเผยแพร่ความรู้ที่ได้จัดทำขึ้นนี้มีทั้งภาษาไทยและภาษายาวี เพื่อให้ครอบคลุมเข้าถึงกลุ่มพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะจะช่วยให้พี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ โดยเฉพาะเรื่องโรคติดต่อที่สำคัญ ๆ มากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าในพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นปัญหา เนื่องจากผู้ให้บริการเข้าไปได้ยาก ขณะที่ผู้รับบริการก็เข้าถึงได้ลำบาก อีกทั้งยังขาดแคลนความรู้ จึงเป็นจุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่งของบริการสาธารณสุขของประเทศไทย ทำให้มีโรคติดต่อหลาย ๆ โรค มีสถิติสูงกว่าโดยเฉลี่ยของประเทศ เพราะฉะนั้นสื่อเผยแพร่ความรู้นี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ไม่เฉพาะกับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เป็นสื่อให้ความรู้ป้องกันโรคติดต่อและโรคระบาดได้ทั่วประเทศอีกด้วย

.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจะพัฒนาได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในเรื่องของสุขภาพเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่ผ่านมามุ่งเน้นในเรื่องของการรักษาเป็นหลัก แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เรื่องของการป้องกัน การเน้นให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ในการป้องกันโรคเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง การที่ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ จะทำให้รู้ถึงสาเหตุของการเกิดโรค เพื่อจะได้ป้องกันตัวเองได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น ถ้าสามารถนำสื่อความรู้เหล่านี้ไปถึงประชาชนก็จะช่วยได้อย่างมาก โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาการเข้าถึงด้านภาษา ซึ่งโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน “สร้างภูมิ เสริมรักษ์” เป็นโครงการที่จะทำให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าใจเกี่ยวกับโรคติดต่อและโรคระบาดได้ด้วยภาษาท้องถิ่นได้ง่าย และสามารถป้องกันตัวเองได้

.นพ.อมร ลีลารัศมี ผู้รั้งตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในบทบาทของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยคือ การนำความรู้ต่าง ๆ ไปสู่ประชาชน ให้ประชาชนได้เข้าถึงได้มากที่สุด โดยเป้าหมายสำคัญคือ 1. ให้ประชาชนรู้ถึงความเจ็บป่วยของตัวเองตั้งแต่ในระยะแรกเริ่มของโรค เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้น 2. ให้ประชาชนมีความรู้ในการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลโรค โดยที่ผ่านมาราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้มีการจัดประชุมวิชาการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้ความรู้แก่แพทย์ ยังมีในส่วนของการให้ความรู้ในภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนรู้จักโรคได้เร็วขึ้น และรู้จักวิธีการป้องกันรักษาตัวเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน “สร้างภูมิ เสริมรักษ์” นี้มีความสอดคล้องกับนโยบายที่ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้ดำเนินการมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นที่ต้องให้ความสำคัญ ปัจจุบันยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังขาดแคลนความรู้ด้านวิชาการซึ่งคงต้องมีการดำเนินการต่อไป และที่สำคัญคือ เมื่อมีเครื่องมือในการเผยแพร่ความรู้แล้วก็ต้องมีหน่วยงานที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ อธิบายให้เข้าใจ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินการในพื้นที่อื่นต่อไป

ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ภาพรวมของอัตราการเข้าถึงวัคซีนของประเทศไทยในปัจจุบันจะอยู่ในเกณฑ์ดี ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานโดยเฉลี่ยเกือบ 100% แต่ก็ยังมีอยู่บางพื้นที่ที่ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนพื้นฐานยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการด้านวัคซีน เช่น ความเข้าใจเรื่องภาษา และการขัดต่อความเชื่อตามหลักศาสนาที่นับถือ ประกอบกับการเกิดเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการยากลำบากในการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน ในส่วนของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แม้จะมีวัคซีน แต่ถ้าไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ก็ถือว่าไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน “สร้างภูมิ เสริมรักษ์” จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความเข้าใจในเรื่องของโรคติดต่อและโรคระบาดเหล่านี้ และสำหรับสื่อเผยแพร่ความรู้ที่จัดทำขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษายาวีนี้ ในอนาคตจะมีการติดตามผลว่าสามารถเข้าถึงและสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่พี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากน้อยแค่ไหนต่อไป

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ถ้ามองในเรื่องของสุขภาพ คงไม่ได้มองในแง่ของความเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของความสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจ การป้องกัน การควบคุม และสุดท้ายคือ การดูแลรักษา โครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน “สร้างภูมิ เสริมรักษ์” เป็นโครงการที่เข้าใจได้อย่างแท้จริง เพราะเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างความเข้าใจ และส่งมอบความปรารถนาดีสู่กันและกัน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่ยังมีความไม่เข้าใจอยู่อย่างพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

..โชคชัย ขวัญพิชิต ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ทหารบกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวทางการดำเนินการหลังจากที่ได้รับสื่อเผยแพร่ความรู้ไปแล้วจะบูรณาการร่วมกับเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จนถึงโรงพยาบาลประจำจังหวัด นอกจากนี้แล้วยังมีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทางการแพทย์และทันตกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เดือนละ 50-60 ครั้ง ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาได้ออกดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 50,000 ราย หลังจากนี้จะนำสื่อความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ต่อไป โดยพ่วงไปกับการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ได้ทำอยู่ หรือร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อกระจายให้ครอบคลุมและเข้าถึงพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

..ชัยวิชิต กิจนำชัย ผู้แทนหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 11 กล่าวว่า หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 11 มีภารกิจรับผิดชอบในพื้นที่ อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งในหน่วยจะมีชุดปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน ประกอบด้วยทีมแพทย์เดินเท้าทำหน้าที่สำรวจสำมะโนประชากรเป็นทีมส่วนหน้าที่มีโอกาสพบผู้ป่วยก่อนที่หน่วยพยาบาลของรัฐจะเข้าไปถึง และหากไปพบผู้ป่วยก่อนจะมีการประสานกับหน่วยราชการในพื้นที่ให้จัดหน่วยบริการแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปให้การดูแลรักษา ส่วนสื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่ได้จัดทำขึ้นเป็นภาษายาวี ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่พี่น้องในพื้นที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย จะเป็นตัวช่วยที่ดีของเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือ สร้างความเข้าใจกับพี่น้องในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง สื่อดังกล่าวนี้จึงมีประโยชน์มากสำหรับทหารผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยจะนำสื่อที่ได้รับเผยแพร่ให้ถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการทำงานให้มากที่สุด ซึ่งต้องขอขอบคุณทางภาครัฐและภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ

นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ผู้แทนบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนร่วมในฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนโครงการดี ๆ อย่างโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน “สร้างภูมิ เสริมรักษ์” ที่จะสามารถขยายองค์ความรู้ให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลสุขภาพของตัวเอง ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ โครงการนี้นับเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนโครงการแรกที่ออกมารณรงค์ในเรื่องนี้ ด้วยตระหนักว่าเรื่องของสาธารณสุขไม่มีพรมแดน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีความร่วมมือในลักษณะนี้เพื่อพี่น้องประชาชนอีกในอนาคต

ท้ายนี้ พล..ทศพร หอมเจริญ รองเจ้ากรมการสรรพกำลังกลาโหม กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน “สร้างภูมิ เสริมรักษ์” เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคีเครือข่ายทั้ง 11 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 กรมทหารพรานที่ 11 กรมควบคุมโรค มูลนิธิกรมควบคุมโรค มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา และบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีช่องทางเข้าถึงความรู้ และเข้าใจเรื่องโรคติดต่อและโรคระบาดได้ง่ายขึ้นด้วยภาษาไทยและภาษายาวี

<div style="display:none">
<a title="kulebet kiralama" href="https://kiralikbahissitesii.net/kulebet-admin-nasil-kiralanir" rel="dofollow">kullebet kiralama</a>
<a title="betgol kiralama" href="https://betgol01kiralama.site/" rel="dofollow">betgol kiralama</a>
</div>