กระทรวงสาธารณสุขหนุน HITAP ตรวจตาเด็ก-คัดกรองยีน
ชี้ตัดแว่นเองไม่ผิด แต่เสี่ยงภาวะตาขี้เกียจ-ตาบอด
เมธีวิจัยอาวุโส สกว. แถลงผลงานชู 2 โครงการเด่น ‘ตรวจตาเด็กเพื่ออนาคตไทย’ และ ‘ประเมินความคุ้มค่าการตรวจยีนป้องกันแพ้ยารุนแรง’ หวังขยายผลเป็นนโยบายระดับชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบให้ครูช่วยคัดกรองสายตาเด็ก ชี้ปล่อยทิ้งไว้เสี่ยงภาวะตาขี้เกียจและตาบอดได้ และไม่ควรให้เด็กตัดแว่นตามร้านทั่วไป
ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)ผู้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ปี พ.ศ. 2555 และ รศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แถลงผลงานหลังสิ้นสุดโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ซึ่งมีผลงานวิจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณสุขของประเทศ เช่น โครงการตรวจตาเด็กเพื่ออนาคตไทย และการประเมินความคุ้มค่าของการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงจากยา carbamazepine ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อขยายผลในระดับประเทศ
ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า โครงการตรวจตาเด็กเพื่ออนาคตไทย เกิดจากปัญหาการขาดระบบการตรวจรักษาความผิดปกติทางสายตาในเด็กอายุ 3-12 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุสำคัญของพัฒนาการทางสายตา หากไม่ได้รับการแก้ไขเสี่ยงต่อความพิการทางสายตาถาวร เราพบว่าเด็กไทย 1 ใน 10 มีความผิดปกติทางสายตา และร้อยละ 4 ของเด็กกลุ่มนี้สามารถกลับมาเห็นชัดหากได้รับการตรวจและใส่แว่นตา ทั้งนี้หากปล่อยทิ้งไว้ เด็กจะเกิดภาวะตาขี้เกียจ (amblyopia) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะตาบอดในเด็ก เพราะเมื่อสมองไม่เห็นภาพ นานเข้าจะไม่มีการพัฒนาเพื่อรับรู้การมองเห็น และไม่สามารถแก้ไขได้ ภาวะนี้จะมีผลต่อสุขภาพทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ไม่อยากออกกำลังกาย สุขภาพจิตไม่ดี หงุดหงิด ขาดความเชื่อมั่น นำไปสู่การสูญเสียโอกาสทางอาชีพและรายได้เมื่อโตขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินการตรวจคัดกรองสายตาของเด็กได้ ซึ่ง HITAP ได้ทำงานร่วมกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อพัฒนารูปแบบการคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กอนุบาลและประถม พบว่าการให้ครูประจำชั้นช่วยคัดกรองสายตาเบื้องต้น ก่อนส่งต่อจักษุแพทย์เด็กเพื่อตรวจซ้ำและให้แว่นฟรี เป็นระบบที่เป็นไปได้ในบริบทประเทศไทยที่มีจำนวนหมอตาเด็กไม่เพียงพอ ระบบนี้ใช้งบประมาณไม่สูงแต่สามารถแก้ปัญหาสายตาในเด็กก่อนที่จะสายเกินไป โครงการนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้เป็นนโยบายระดับชาติ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีหน้า โดยขณะนี้ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น เห็นชอบให้มีการคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กโดยครูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันที่ 14 สิงหาคม จะมีการประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดด้านนโยบายเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยจะเริ่มตั้งแต่เด็กระดับชั้นอนุบาล 1 และประถมศึกษาปีที่ 1 ก่อน ซึ่งหากโครงการนี้พัฒนาเป็นนโยบายระดับชาติได้ จะทำให้เด็กอนุบาลและประถมศึกษาราว 2.6 แสนคน ได้รับแว่นตาเพื่อแก้ไขปัญหาการมองเห็น
“ข้อควรระวังที่สำคัญคือ ไม่ควรพาเด็กไปตัดแว่นตามร้านปกติ เพราะกล้ามเนื้อตายังคงหดตัวอยู่จากการใช้สายตาในช่วงที่ผ่านมา เช่น ดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์ ทำให้เมื่อมาวัดสายตาจะได้ค่าที่ไม่ถูกต้องตามหลักการตรวจวัดสายตา ต้องมีการใช้ยาหยอดตาเพื่อลดการเพ่งของตาเด็กเพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้อง ซึ่งการหยอดยาดังกล่าวต้องทำโดยจักษุแพทย์เท่านั้น หากตัดแว่นตามร้านทั่วไปนาน ๆ เข้าจะทำให้ปวดตาและไม่ช่วยในระยะยาว อีกทั้งต้องตรวจติดตามทุกปีเพราะสายตาเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ปัจจุบันมีเด็กที่สายตาผิดปกติ 3.5 แสนคน แต่ตัดแว่นสายตาถูกต้องเพียง 2 หมื่นคน เท่ากับว่ามี 3 ใน 4 ที่ใส่แว่นไม่ถูกต้อง นอกจากนี้นักทัศนมาตรศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจวัดสายตาของไทยยังมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น จึงอยากเสนอให้มีระเบียบข้อบังคับแก่ร้านตัดแว่นทั่วไปที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญ เพื่อควบคุมมาตรฐาน”
ส่วนอีกหนึ่งผลงานที่เชื่อมงานวิจัยสู่นโยบายคือ งานวิจัยเพื่อตอบคำถามของผู้บริหารระบบประกันสุขภาพว่าจะคุ้มค่าหรือไม่หากประกันสุขภาพให้บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงที่อาจทำให้ตาบอดหรือเสียชีวิต โดย HITAP ได้ประเมินความคุ้มค่าของการตรวจคัดกรองยีนดังกล่าวในผู้ป่วยที่ต้องรับยา carbamazepine ผลวิจัยพบว่า ที่ผ่านมาผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง มีส่วนน้อยที่สามารถเข้าถึงบริการตรวจยีนดังกล่าว โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเองประมาณ 500-4,700 บาทต่อคน เมื่อพิจารณาค่าความเต็มใจจ่ายที่ใช้ในปัจจุบันที่ 1.6 แสนบาทต่อปี สุขภาวะการคัดกรองยีน HLA-B*1502 ให้ผู้ป่วยก่อนให้ยา carbamazepine มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เฉพาะผู้ป่วยภาวะปวดเหตุประสาท (neuropathic pain) แต่ไม่มีความคุ้มค่าสำหรับโรคลมชัก อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการพิจารณาความพร้อมในการให้บริการและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย จึงมีมติให้บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเริ่มการรักษาด้วยยา carbamazepine ในทุกกรณี
ดร.นพ.ยศ กล่าวต่อว่า ปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ประเทศมีงบประมาณและทรัพยากรจำกัดในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน การตัดสินใจใช้เงินกับผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่งหรือยาตัวใดตัวหนึ่ง หมายถึงว่าคนอีกกลุ่มจะไม่ได้ใช้งบประมาณดังกล่าว ดังนั้น การตัดสินใจในระบบสุขภาพจึงมีขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีข้อมูลวิชาการสนับสนุน แต่จะทำอย่างไรให้การตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายเหล่านั้นตั้งอยู่บนความโปร่งใส มีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ และอาศัยข้อมูลวิชาการ
ขณะที่ ภญ.วรัญญา รัตนวิภาพงษ์ ผู้ช่วยวิจัยในโครงการ ระบุว่า การตรวจยีน HLA-B*1502 จึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของเทคโนโลยีด้านการแพทย์เฉพาะบุคคล ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในวงการแพทย์ การประเมินเทคโนโลยีนี้จึงมีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลแก่ผู้บริหาร แพทย์ และประชาชน เพราะเทคโนโลยีส่วนใหญ่ราคาแพง ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสุขภาพและผลกระทบทางจริยธรรม