บริโภคเนื้อแดงมากเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2
JAMA Intern Med. Published online June 17, 2013
บทความวิจัยเรื่อง Changes in Red Meat Consumption and Subsequent Risk of Type 2 Diabetes Mellitus: Three Cohorts of US Men and Women รายงานว่า การบริโภคเนื้อแดงสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ยังไม่มีข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลงการบริโภคเนื้อแดงต่อความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นักวิจัยจึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเนื้อแดงในช่วงระยะเวลา 4 ปี และ 4-year risk ต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน
นักวิจัยดำเนินการศึกษาแบบ prospective cohort study รวม 3 การศึกษาจากผู้ชายและผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา โดยติดตามผู้ชาย 26,357 รายในการศึกษา Health Professionals Follow-up Study (1986-2006), ผู้หญิง 48,709 รายในการศึกษา Nurses' Health Study (1986-2006) และผู้หญิง 74,077 รายในการศึกษา Nurses' Health Study II (1991-2007) การประเมินอาหารตรวจสอบด้วยแบบสอบถามความถี่ของอาหารซึ่งปรับปรุงทุก 4 ปี และใช้ time-dependent Cox proportional hazards regression model คำนวณ hazard ratios โดยปรับตามอายุ, ประวัติครอบครัว, เชื้อชาติ, การแต่งงาน, การบริโภคเนื้อแดงเริ่มแรก, การสูบบุหรี่ และปัจจัยด้านวิถีชีวิตตัวอื่นในระยะเริ่มแรกและเมื่อเปลี่ยนไป (ออกกำลังกาย, ดื่มเหล้า, ปริมาณพลังงานทั้งหมดที่บริโภค และคุณภาพของอาหาร) นักวิจัยรวมผลลัพธ์จากแต่ละ cohort ด้วย fixed-effect meta-analysis ที่ถ่วงน้ำหนักด้วยส่วนกลับความแปรปรวน และมาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ การเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดยประเมินจากแบบสอบถาม
ระหว่างการติดตาม 1,965,824 person-years มีรายงานการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวม 7,540 ราย ซึ่งจาก multivariate-adjusted models พบว่า การบริโภคเนื้อแดงที่เพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลา 4 ปี สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ระหว่าง 4 ปีให้หลังในแต่ละ cohort (all p < 0.001 for trend) เมื่อเทียบกับกลุ่มอ้างอิงซึ่งไม่มีความเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภคเนื้อแดงพบว่า การบริโภคเนื้อแดงที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 0.50 ส่วนต่อวันสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้น 48% (pooled hazard ratio, 1.48; 95% CI, 1.37-1.59) ในช่วง 4 ปีหลัง และความสัมพันธ์นี้อ่อนลงหลังปรับตามดัชนีมวลกายเริ่มแรกและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น (1.30; 95% CI, 1.21-1.41) การลดบริโภคเนื้อแดงลงมากกว่า 0.50 ส่วนต่อวันจากพื้นฐานถึง 4 ปีแรกของการติดตามสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลง 14% (pooled hazard ratio, 0.86; 95% CI, 0.80-0.93) ระหว่างการติดตามภายหลังทั้งหมดไปจนถึงปี ค.ศ. 2006 หรือ 2007
การบริโภคเนื้อแดงที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากน้ำหนักตัว ข้อมูลจากการศึกษานี้เป็นหลักฐานสนับสนุนว่าการจำกัดการบริโภคเนื้อแดงส่งผลดีต่อการป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2