ผลสำเร็จโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชันฯ” สร้างทีมสหสาขาบริบาลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 สู่การรักษาตามมาตรฐานสากล
“เบาหวาน” เป็นปัญหาสุขภาพที่พบมากในคนไทย ติด 1 ใน 10 ของโรคที่คุกคามคนไทยมากที่สุด พบได้ในทุกช่วงวัย และมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2555 พบผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 7,749 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 22 ราย ซึ่งสาเหตุของการเป็นเบาหวานนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น อาหาร พฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย กรรมพันธุ์ เป็นต้น มีคนจำนวนมากที่เป็นเบาหวานแต่ไม่รู้ตัว ทำให้ไม่สามารถดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี และทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานที่อาจถึงขั้นรุนแรงได้
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย และ ชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย จึงได้จัดโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชัน รวมพลังบริบาลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และส่งเสริมให้ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่มีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาได้เข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ให้การสนับสนุน
คณะกรรมการโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชันฯ” ได้คัดเลือกผู้เป็นเบาหวาน 85 คน จากจำนวนผู้สมัคร 175 คน แบ่งเป็นเพศหญิง 54 คน เพศชาย 31 คน อายุเฉลี่ย 20 ± 11 ปี ระยะเวลาเป็นเบาหวาน 7.2 ± 6.3 ปี โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายให้ทีมแพทย์ ผู้เป็นเบาหวานและครอบครัว และทีมสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมดูแลทั้งหมด 33 ทีม จาก 29 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน การดูแลตนเอง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ควบคุมค่าน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน มีเจตคติทางบวกต่อโรค รวมถึงสร้างสัมพันธไมตรีอันดีซึ่งกันและกัน อาทิ ค่ายเบาหวานครั้งที่ 1 และ 2 ค่ายเบาหวานสัญจร 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง) เป็นต้น
ข้อมูลจากแบบประเมินคุณภาพชีวิตของผู้เข้าร่วมโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชันฯ” พบว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปี กระบวนการสร้างทักษะการจัดการตนเอง และการใช้ยาอินซูลินแบบ Basal-Bolus โดยมีอินซูลินอะนาล็อคและแผ่นตรวจน้ำตาลให้ใช้อย่างเพียงพอ มีส่วนทำให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มีค่าน้ำตาลสะสมเฉลี่ยลดลง เมื่อสิ้นสุดโครงการจำนวนผู้เป็นเบาหวานมีค่า HbA1c ตามเกณฑ์กำหนดคือ < 7.5% เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถทำให้ผู้เป็นเบาหวานส่วนใหญ่มีการควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ผู้เป็นเบาหวานมีทักษะการจัดการตนเองดีขึ้น โดยเฉพาะการคำนวณอาหาร คาร์โบไฮเดรต มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรงลดลง ครอบครัวเข้าใจกัน มีกำลังใจ มีการจัดการตนเองเรื่องเบาหวานมากขึ้น ทีมผู้รักษามีความเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มากขึ้น เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกันในการร่วมดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งถือเป็นผลสำเร็จของโครงการเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ได้มีการจัดประกวดรางวัล “ทีมสหสาขาบริบาลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1” ขึ้น ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ทีมผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวานในโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชันฯ” เพื่อเป็นกำลังใจและแสดงความขอบคุณในความตั้งใจของทีมที่ดูแลและติดตามผู้ป่วยเบาหวานอย่างเป็นระบบตามหลักเกณฑ์ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกคือ แพทย์ผู้รักษาและทีมผู้ดูแลแต่ละทีมจะทำการประเมินผลจากการดูแลผู้ป่วยในโครงการ พร้อมส่งผลการประเมินให้คณะกรรมการโครงการฯ ตามหัวข้อหลัก ๆ ดังนี้ 1. การมีส่วนร่วมของบุคลากรที่อยู่ในทีม 2. การดำเนินงานที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ 3. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโครงการ และ 4. ผลลัพธ์ของการดูแลผู้เป็นเบาหวานในโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแล
ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2558 เรื่อง Type 1 Diabetes Through the Life Span เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มแพทย์ ทีมผู้ดูแลและรักษาผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงการรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ภายในงานได้มีการมอบเกียรติบัตรและรางวัลทีมสหสาขาบริบาลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ให้แก่ทีมผู้ดูแลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ในโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชันฯ” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว
โดยหน่วยงานที่ได้รับรางวัล “ทีมสหสาขาบริบาลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1” แบ่งออกเป็น รางวัลประเภทดีเด่น รางวัลละ 20,000 บาท ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล Care Team เบาหวานเด็กและวัยรุ่น รางวัลประเภทดี รางวัลละ 10,000 บาท ได้แก่ โรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรางวัลประเภทชมเชย รางวัลละ 5,000 บาท ได้แก่ หน่วยโรคต่อมไร้ท่อเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และ โรงพยาบาลพุทธโสธร
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ และประธานโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชันฯ” กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นเมื่อตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือเมื่อร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินที่ผลิตมาได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อกระบวนการผลิตอินซูลินบกพร่องหรือการทำงานของอินซูลินด้อยประสิทธิภาพจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ทำงานล้มเหลว อีกทั้งยังเป็นผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว
สำหรับผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มเป็นในเด็กและวัยรุ่น เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเซลล์ในตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน ดังนั้น ร่างกายของผู้เป็นเบาหวานชนิดนี้จึงผลิตอินซูลินได้น้อยมาก หรือไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลย ผู้เป็นเบาหวานจึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินเข้าร่างกายตลอดชีวิต ควบคู่กับการคุมค่าน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
การรักษาผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งก็คือการฉีดอินซูลินแบบเข้มงวดในลักษณะเลียนแบบธรรมชาติ โดยฉีด 4 เวลาก่อนอาหาร ทั้งเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน เพื่อคุมค่าน้ำตาลในเลือดไว้ตลอดคืน แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการรักษาด้วยอินซูลินแบบเข้มงวดของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ได้แก่ การยอมรับการรักษา ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการรักษา รวมถึงทักษะในการดูแลตนเอง ซึ่งผู้เป็นเบาหวานจะต้องเรียนรู้และเข้าใจ
“จากจำนวนทั้งหมดของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ในประเทศไทย มีประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากข้อจำกัดหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องที่ไม่ยอมรับการรักษา เพราะต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าน้ำตาล 4 เวลา ฉีดอินซูลิน 4 เวลา หรือในบางรายต้องเจาะเลือดหรือฉีดอินซูลินทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร ทำให้การยอมรับในการรักษาที่เป็นมาตรฐานน้อยลง เรื่องของค่าใช้จ่ายที่ผู้เป็นเบาหวานต้องเสียเพิ่มขึ้นให้กับเครื่องตรวจน้ำตาลหรือแผ่นตรวจน้ำตาล รวมถึงเรื่องของทักษะในการดูแลตนเองซึ่งผู้ที่เป็นเบาหวานต้องเรียนรู้และเข้าใจ แต่ในส่วนนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ต้องอาศัยทีมผู้ดูแลที่มีประสบการณ์และมีความพร้อมในการเป็นผู้สอน เพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว
โดย “ทีมสหสาขาบริบาลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1” ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นทีมที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ตามมาตรฐาน มีการติดตามประเมินผลการรักษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ผลการรักษาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการดูแลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มเป็นในเด็ก ทำให้ทีมผู้ดูแลต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนตามช่วงอายุ (Development Stage) จากเด็กสู่ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกจึงเป็นการให้ความรู้แก่พ่อแม่ ซึ่งถือเป็นผู้ดูแลคนสำคัญในทุก ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องอาหาร เรื่องการฉีดอินซูลิน แต่เมื่อเด็กโตขึ้นทางทีมผู้ดูแลก็ต้องเริ่มบอกให้พ่อแม่ค่อย ๆ ถ่ายโอนความรับผิดชอบมาให้ลูก เพื่อที่เขาจะได้มีความรู้ในการดูแลตนเองได้ต่อไป
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้พัฒนาทีมสหสาขาบริบาลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และได้นำเสนอโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชันฯ” ต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพัฒนาทีมสหสาขาบริบาลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ให้กระจายทั่วประเทศ โดยเริ่มจากพัฒนาให้ครอบคลุมทุกเขตบริการสุขภาพ ซึ่งในเบื้องต้น สปสช. เห็นด้วยและมองว่าอยู่ในจุดที่สามารถจะพัฒนาได้
“ความสำเร็จของโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชันฯ” วัดได้จากการที่ผู้เป็นเบาหวานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะบางรายก่อนมาเข้าโครงการจะรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว โชคร้าย ต้องเผชิญโรคอยู่เพียงลำพัง แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการทำให้มีทักษะการจัดการตนเองดีขึ้น มีเพื่อน มีครอบครัวที่เข้าใจกัน สัมพันธภาพระหว่างครอบครัวดีขึ้น มีกำลังใจ ทีมผู้ดูแลรักษาก็มีความเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มากขึ้น เกิดการเรียนรู้ในการร่วมดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ไปด้วยกัน” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว
ด้าน รศ.พญ.สุภาวดี ลิขิตมาสกุล เลขานุการโครงการ “๘๔ พรรษามหาราชันฯ” กล่าวเสริมว่า จากการดำเนินงานโครงการทำให้เห็นถึงผลของการดูแลผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ด้วยการใช้ยาฉีดอินซูลินแบบเข้มงวด ซึ่งขณะนี้มีทีมที่มีศักยภาพในการดูแลผู้เป็นเบาหวานในกลุ่มนี้ ในกระบวนการต่อไปจะสรุปรวบรวมข้อมูลนำเสนอ สปสช. เพื่อที่จะให้มีการบริบาลผู้เป็นเบาหวานมากขึ้น ทั้งในแง่ของสิทธิประโยชน์ และในการพัฒนาทีมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล
“หัวใจสำคัญคือ เราต้องการให้ผู้ที่เป็นเบาหวานและครอบครัวมีความรู้ที่จะจัดการตนเอง ซึ่งถ้าสามารถจัดการตนเองได้ดีในจุดเริ่มต้นก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถดูแลตนเองได้ดีต่อไป ในบริบทของแพทย์ เราเป็นแค่โค้ชในการช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจ ให้ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืนเท่านั้น รวมถึงสนับสนุนให้ใช้ความรู้กับอุปกรณ์และเทคโนโลยีทั้งหลายที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างคุ้มค่าและสิ้นเปลืองน้อยที่สุด นำไปสู่ประโยชน์สูงสุดในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะโรคแทรกซ้อนทั้งเฉียบพลันและโรคแทรกซ้อนระยะยาวที่อาจจะเกิดขึ้น” รศ.พญ.สุภาวดี กล่าว
ท้ายนี้ ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี เน้นย้ำว่า “ทุกโรงพยาบาลน่าจะมีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ ถ้าโรงพยาบาลไหนมีบุคลากรเพียงพอน่าจะจัดเป็นทีมงานเพื่อทำให้ผู้เป็นเบาหวานมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักดูแลตนเอง หรือเมื่อเกิดปัญหาแล้วมีทีมงานคอยช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น แพทย์หรือยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาเท่านั้น”