กายภาพบำบัดและการรักษามาตรฐานในปวดหลังส่วนล่าง
JAMA. 2015;314(14):1459-1467.
บทความเรื่อง Early Physical Therapy vs Usual Care in Patients with Recent-Onset Low Back Pain: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นปัญหาที่พบบ่อยในบริการปฐมภูมิ โดยที่แนวทางเวชปฏิบัติแนะนำให้ชะลอการส่งต่อกายภาพบำบัด จึงมีการศึกษาผลของกายภาพบำบัดโดยเร็ว (จัดกระดูกและออกกำลังกาย) เปรียบเทียบกับการรักษามาตรฐานในแง่การลดความบกพร่องจากอาการปวดหลังส่วนล่าง
งานวิจัยมีรูปแบบเป็น randomized clinical trial ในอาสาสมัคร 220 คน ซึ่งรวบรวมระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 ถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013 โดยอาสาสมัครไม่เคยรับการรักษาเนื่องจากอาการปวดหลังส่วนล่างในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีอายุ 18-60 ปี (อายุเฉลี่ย 37.4 ปี [SD 10.3]) มีคะแนน Oswestry Disability Index (ODI) อย่างน้อย 20 คะแนน มีอาการมาแล้วไม่เกิน 16 วัน และไม่มีความผิดปกติของขาในช่วง 72 ชั่วโมงที่ผ่านมา
อาสาสมัครทั้งหมดได้รับคำแนะนำการดูแลรักษา กลุ่มทำกายภาพบำบัดโดยเร็ว (n = 108) ได้ทำกายภาพบำบัด 4 ครั้ง และกลุ่มรักษามาตรฐาน (n = 112) ไม่ได้รับการรักษาใดในช่วง 4 สัปดาห์แรก ผลลัพธ์หลักได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของคะแนน ODI (range 0-100 โดยคะแนนที่สูงกว่าชี้ความบกพร่องที่รุนแรงกว่า; minimum clinically important difference, 6 points) ที่ 3 เดือน ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของคะแนน ODI จากการติดตามที่ 4 สัปดาห์ และ 1 ปี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับอาการปวด คะแนน Pain Catastrophizing Scale (PCS) การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเนื่องจากกลัวความเจ็บปวด คุณภาพชีวิต ผลสำเร็จซึ่งผู้ป่วยเป็นผู้รายงาน และการรับบริการดูแลรักษาที่ 4 สัปดาห์, 3 เดือน และ 1 ปี
การติดตามระยะเวลา 1 ปี ลุล่วงในอาสาสมัคร 207 คน (94.1%) จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมพบว่า การทำกายภาพบำบัดโดยเร็วมีผลลัพธ์ด้านความบกพร่องดีกว่าการรักษามาตรฐานภายหลัง 3 เดือน (ค่าเฉลี่ยคะแนน ODI ในกลุ่มกายภาพบำบัดโดยเร็วเท่ากับ 41.3 [95% CI 38.7-44.0] ที่เริ่มต้นมาที่ 6.6 [95% CI 4.7-8.5] ที่ 3 เดือน และกลุ่มรักษามาตรฐานเท่ากับ 40.9 [95% CI 38.6-43.1] ที่เริ่มต้นมาที่ 9.8 [95% CI 7.9-11.7] ที่ 3 เดือน โดยมีความต่างเท่ากับ -3.2 [95% CI -5.9 to -0.47], p = 0.02) ความต่างที่มีนัยสำคัญพบจากคะแนน ODI หลัง 4 สัปดาห์ (ความต่างเท่ากับ -3.5 [95% CI -6.8 to -0.08], p = 0.045]) แต่ไม่พบจากการติดตามที่ 1 ปี (ความต่างเท่ากับ -2.0 [95% CI -5.0 to 1.0], p = 0.19) จากการศึกษาไม่พบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในแง่ระดับอาการปวดจากการติดตามที่ 4 สัปดาห์, 3 เดือน และ 1 ปี (ความต่างเท่ากับ -0.42 [95% CI -0.90 to 0.02] จากการติดตามที่ 4 สัปดาห์; -0.38 [95% CI -0.84 to 0.09] จากการติดตามที่ 3 เดือน และ -0.17 [95% CI -0.62 to 0.27] จากการติดตามที่ 1 ปี) และพบว่า คะแนน PCS ดีขึ้นจากการติดตามที่ 4 สัปดาห์ และ 3 เดือน แต่ไม่รวมถึงการติดตามที่ 1 ปี (ความต่างเท่ากับ -2.7 [95% CI -4.6 to -0.85] จากการติดตามที่ 4 สัปดาห์; -2.2 [95% CI -3.9 to -0.49] จากการติดตามที่ 3 เดือน และ -0.92 [95% CI -2.7 to 0.61] จากการติดตามที่ 1 ปี) และไม่พบความต่างด้านการใช้บริการดูแลรักษาในทุกช่วงเวลา
ข้อมูลจากการศึกษาในผู้ใหญ่ที่เพิ่งมีอาการปวดหลังส่วนล่างพบว่า กายภาพบำบัดโดยเร็วช่วยลดความบกพร่องได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ความต่างไม่มีนัยสำคัญทางคลินิกเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน