ความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และการนอนโรงพยาบาลด้วยปอดอักเสบจากไข้หวัดใหญ่

ความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และการนอนโรงพยาบาลด้วยปอดอักเสบจากไข้หวัดใหญ่

JAMA. 2015;314(14):1488-1497.

บทความเรื่อง Association between Hospitalization with Community-Acquired Laboratory-Confirmed Influenza Pneumonia and Prior Receipt of Influenza Vaccination รายงานว่า ปัจจุบันยังคงมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบอันเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

การศึกษา Etiology of Pneumonia in the Community (EPIC) ได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และการนอนโรงพยาบาลเนื่องจากโรคปอดอักเสบชุมชนจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 2010 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2012 ในสหรัฐอเมริกา การศึกษาได้ใช้ข้อมูลผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 6 เดือนซึ่งมีข้อมูลผลตรวจยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และประวัติการได้รับวัคซีน และได้คัดผู้ป่วยที่เพิ่งนอนโรงพยาบาล มีประวัติโรคเรื้อรัง และภูมิคุ้มกันต่ำออกจากการศึกษา นอกจากนี้ได้เปรียบเทียบค่า odds ของการฉีดวัคซีนระหว่างผู้ป่วยปอดอักเสบกลุ่มที่เป็นบวกต่อไข้หวัดใหญ่ (กลุ่มที่มีโรค) และกลุ่มที่เป็นลบ (กลุ่มควบคุม) โดยควบคุมปัจจัยด้านประชากร โรคร่วม ฤดูกาล สถานที่วิจัย และระยะเวลาที่ปรากฏโรค และประมาณประสิทธิผลของวัคซีนด้วยสูตร (1-adjusted odds ratio) × 100% ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ปอดอักเสบชุมชนจากไข้หวัดใหญ่ยืนยันจาก real-time reverse-transcription polymerase chain reaction ด้วย nasal/oropharyngeal swabs

โดยรวมมีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลจากปอดอักเสบ 2,767 คนที่สอดคล้องกับเกณฑ์การศึกษา โดย 162 คน (5.9%) มีผลตรวจยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จากการศึกษาพบประวัติการฉีดวัคซีนในผู้ป่วย 28 คนจากกลุ่มที่มีโรค 162 คน (17%) ซึ่งเป็นปอดอักเสบที่มีผลบวกต่อไข้หวัดใหญ่ และกลุ่มควบคุม 766 คนจาก 2,605 คน (29%) ซึ่งเป็นปอดอักเสบที่มีผลลบต่อไข้หวัดใหญ่ ค่า odds ratio ที่ปรับแล้วของการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อนระหว่างกลุ่มที่มีโรคและกลุ่มควบคุมเท่ากับ 0.43 (95% CI 0.28-0.68; estimated vaccine effectiveness 56.7%; 95% CI 31.9%-72.5%)

จากการศึกษาในเด็กและผู้ใหญ่ที่นอนโรงพยาบาลเนื่องจากปอดอักเสบชุมชนชี้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบจากไข้หวัดใหญ่มีค่า odds ที่ต่ำกว่าต่อการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อเทียบกับผู้ป่วยปอดอักเสบที่ไม่สัมพันธ์กับไข้หวัดใหญ่