เสริมแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อป้องกัน Colorectal Adenomas
N Engl J Med 2015;373:1519-1530.
บทความเรื่อง A Trial of Calcium and Vitamin D for the Prevention of Colorectal Adenomas รายงานว่า ข้อมูลทางระบาดวิทยาและข้อมูลระยะก่อนการศึกษาในคนเสนอว่าระดับวิตามินดีใน serum ที่สูงขึ้น รวมถึงการได้รับวิตามินดีและแคลเซียมเพิ่มขึ้นลดความเสี่ยงต่อ colorectal neoplasia จึงมีการศึกษาผลลัพธ์การเสริมวิตามินดี หรือแคลเซียม หรือวิตามินดีและแคลเซียมสำหรับการป้องกัน colorectal neoplasia
การศึกษาได้รวบรวมผู้ป่วยซึ่งเพิ่งตรวจพบ adenomas และไม่มี colorectal polyps เหลืออยู่หลังการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ โดยสุ่มให้อาสาสมัคร 2,259 คนได้รับวิตามินดี 3 (1,000 IU) หรือแคลเซียม (1,200 มิลลิกรัม) หรือทั้ง 2 อย่างวันละครั้ง หรือไม่ได้รับเลยในแบบ partial 2×2 factorial design และผู้หญิงสามารถเลือกได้รับแคลเซียมร่วมกับวิตามินดีหรือยาหลอก การติดตามด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่มีขึ้นที่ 3 หรือ 5 ปีหลังการประเมินเมื่อเริ่มต้นตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ตรวจ จุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ adenomas ซึ่งพบระหว่างการสุ่มถึงการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
อาสาสมัครซึ่งได้รับวิตามินดีมี mean net increase ใน serum ของ 25-hydroxyvitamin D เท่ากับ 7.83 นาโนกรัม/มิลลิลิตร เทียบกับอาสาสมัครที่ได้รับยาหลอก จากการศึกษาพบว่า 43% ของอาสาสมัครเกิด adenomas 1 ติ่งหรือมากกว่าระหว่างการติดตาม โดย risk ratios ที่ปรับแล้วต่อการเป็นซ้ำของ adenomas เท่ากับ 0.99 (95% CI 0.89-1.09) จากการเสริมวิตามินดีเทียบกับไม่ได้เสริมวิตามินดี, 0.95 (95% CI 0.85-1.06) จากการเสริมแคลเซียมเทียบกับไม่ได้เสริมแคลเซียม และ 0.93 (95% CI 0.80-1.08) จากการเสริมวิตามินดีร่วมกับแคลเซียมเทียบกับไม่ได้เสริมทั้งวิตามินดีและแคลเซียม ซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์จาก adenomasในระยะเป็นมาก ขณะที่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงน้อย
การเสริมวิตามินดี 3 (1,000 IU), แคลเซียม (1,200 มิลลิกรัม) หรือทั้ง 2 อย่างภายหลังการตัด colorectal adenomas ไม่ได้ลดความเสี่ยงการเป็นซ้ำของ colorectal adenomas ได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะ 3-5 ปี