การปนเปื้อนผิวหนังและเสื้อผ้าระหว่างถอดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

การปนเปื้อนผิวหนังและเสื้อผ้าระหว่างถอดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

JAMA Intern Med. Published online October 12, 2015.

บทความเรื่อง Contamination of Health Care Personnel During Removal of Personal Protective Equipment รายงานว่า การปนเปื้อนตามผิวหนังและเสื้อผ้าของบุคลากรสุขภาพระหว่างการถอดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลมีส่วนต่อการแพร่เชื้อและทำให้บุคลากรเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงมีการศึกษาความถี่และตำแหน่งของการปนเปื้อนที่ผิวหนังและเสื้อผ้าของบุคลากรสุขภาพระหว่างการถอดอุปกรณ์ป้องกัน และประเมินผลของการแก้ไขต่อความถี่การปนเปื้อน

นักวิจัยดำเนินการศึกษาแบบ point-prevalence study และ quasi-experimental intervention จากวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2014 ถึงวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2015 การวิเคราะห์ข้อมูลเริ่มขึ้นในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2014 และสิ้นสุดในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2015 อาสาสมัครประกอบด้วยบุคลากรสุขภาพจากโรงพยาบาล 4 แห่งในรัฐโอไฮโอของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทดสอบการถอดอุปกรณ์ป้องกันที่ปนเปื้อนด้วย fluorescent lotion และบุคลากรจากศูนย์การแพทย์ใน quasi-experimental intervention ซึ่งครอบคลุมการให้ความรู้และฝึกการถอดอุปกรณ์ป้องกันที่ปนเปื้อน และตรวจการปนเปื้อนที่ผิวหนังและเสื้อผ้าด้วย fluorescent lotion

ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความถี่และตำแหน่งของการปนเปื้อนที่ผิวหนังและเสื้อผ้าของบุคลากรภายหลังถอดถุงมือหรือชุดกาวน์ที่ปนเปื้อนเมื่อเริ่มต้นเทียบกับภายหลังการฝึก และจุดยุติทุติยภูมิพิจารณาที่ความสัมพันธ์ระหว่างการปนเปื้อนที่ผิวหนังประเมินจาก fluorescent lotion และจากเชื้อ bacteriophage MS2

จากการจำลองถอดถุงมือและชุดกาวน์ 435 ครั้ง พบการปนเปื้อนที่ผิวหนังและเสื้อผ้าประเมินจาก fluorescent lotion ใน 200 ครั้ง (46.0%) โดยมีความถี่การปนเปื้อนใกล้เคียงกันระหว่างโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่ง (range 42.5%-50.3%) การปนเปื้อนมักเกิดขึ้นระหว่างการถอดถุงมือเทียบกับการถอดชุดกาวน์ (52.9% vs 37.8%, p = 0.002) และมักเกิดขึ้นในการถอดโดยไม่ถูกวิธีเทียบกับการถอดอย่างถูกวิธี (70.3% vs 30.0%, p < 0.001) การฝึกถอดอุปกรณ์ป้องกันช่วยลดการปนเปื้อนที่ผิวหนังและเสื้อผ้าระหว่างถอดถุงมือและชุดกาวน์ (60.0% ที่ก่อนฝึก vs 18.9% ที่หลังฝึก, p < 0.001) โดยมีผลลัพธ์ต่อเนื่องที่ 1 และ 3 เดือน (12.0% ที่ทั้ง 2 ช่วงเวลา, p < 0.001 เทียบกับก่อนฝึก) ระหว่างการฝึกถอดถุงมือที่ปนเปื้อนพบว่า ความถี่ของการปนเปื้อนที่ผิวหนังใกล้เคียงกันเมื่อประเมินจาก fluorescent lotion และเชื้อ bacteriophage MS2 (58.0% vs 52.0%, p = 0.45)

ข้อมูลจากการศึกษาชี้ว่า การปนเปื้อนที่ผิวหนังและเสื้อผ้าของบุคลากรสุขภาพมักเกิดขึ้นระหว่างการถอดถุงมือหรือชุดกาวน์ที่ปนเปื้อน ซึ่งการฝึกอบรมที่ครอบคลุมการฝึกปฏิบัติตรวจสอบการปนเปื้อนที่ผิวหนังและเสื้อผ้าจะลดความเสี่ยงการปนเปื้อนระหว่างการถอดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลได้อย่างมีนัยสำคัญ