Inhaled Budesonide สำหรับป้องกัน Bronchopulmonary Dysplasia

Inhaled Budesonide สำหรับป้องกัน Bronchopulmonary Dysplasia

N Engl J Med 2015;373:1497-1506.

บทความเรื่อง Early Inhaled Budesonide for the Prevention of Bronchopulmonary Dysplasia รายงานว่า การรักษาด้วย systemic glucocorticoids ลดอุบัติการณ์ของ bronchopulmonary dysplasia ในทารกคลอดก่อนกำหนดมากแต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง ขณะที่ผลของ inhaled glucocorticoids ต่อผลลัพธ์ในทารกกลุ่มนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน

การศึกษาได้สุ่มให้ทารก 863 คน (อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ 0 วัน ถึง 27 สัปดาห์ 6 วัน) ได้รับ inhaled budesonide หรือยาหลอกโดยเร็ว (ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด) จนกว่าไม่จำเป็นต้องได้ออกซิเจนและ positive-pressure support หรือจนกว่าอายุ postmenstrual age ครบ 32 สัปดาห์ 0 วัน ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การตายหรือ bronchopulmonary dysplasia ประเมินจากค่าเฉลี่ยความอิ่มตัวของออกซิเจนอายุ postmenstrual age 36 สัปดาห์

ทารก 175 คนจาก 437 คนในกลุ่มที่ได้รับ budesonide (40.0%) เทียบกับ 194 คนจาก 419 คนที่ได้รับยาหลอก (46.3%) เสียชีวิตหรือมี bronchopulmonary dysplasia (relative risk ตามอายุครรภ์เท่ากับ 0.86; 95% CI 0.75-1.00; p = 0.05) อุบัติการณ์ของ bronchopulmonary dysplasia เท่ากับ 27.8% ในกลุ่มที่ได้รับ budesonide เทียบกับ 38.0% ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (relative risk ตามอายุครรภ์เท่ากับ 0.74; 95% CI 0.60-0.91; p = 0.004) โดยพบการตายใน 16.9% และ 13.6% ของผู้ป่วย (relative risk ตามอายุครรภ์เท่ากับ 1.24; 95% CI 0.91-1.69; p = 0.17) สัดส่วนของทารกที่จำเป็นต้องเย็บปิด patent ductus arteriosus ต่ำกว่าในกลุ่มที่ได้รับ budesonide เทียบกับยาหลอก (relative risk ตามอายุครรภ์เท่ากับ 0.55; 95% CI 0.36-0.83; p = 0.004) เช่นเดียวกับสัดส่วนทารกที่จำเป็นต้องสอดท่อหายใจซ้ำ (relative risk ตามอายุครรภ์เท่ากับ 0.58; 95% CI 0.35-0.96; p = 0.03) ขณะที่อัตราการเจ็บป่วยในช่วงแรกเกิดและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นใกล้เคียงกันในทั้ง 2 กลุ่ม

ข้อมูลในทารกคลอดก่อนกำหนดมากชี้ว่า อุบัติการณ์ของ bronchopulmonary dysplasia ต่ำกว่าในทารกที่ได้รับ inhaled budesonide โดยเร็วเทียบกับทารกกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ประโยชน์ที่ได้อาจมาพร้อมกับอัตราตายที่เพิ่มขึ้น