แผนงาน “กลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง” จากประเทศไทย ชนะรางวัล Sanofi-Rainbow Across Borders สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เมื่อไม่นานมานี้ ณ ที่ประชุม Partners in Patient Health Asia Pacific Forum 2015 ประเทศสิงคโปร์ ได้มีการเปิดเผยผลการประกวดรางวัล Sanofi-Rainbow Across Borders สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นรางวัลแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มอบให้แก่แผนงานของชมรมผู้ป่วยและกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนผู้ป่วย (patient advocates and groups-PAG) จำนวน 10 แผนงาน เพื่อเชิดชูบทบาทของชมรมและกลุ่มดังกล่าวในการเสริมสร้างให้ผู้ป่วยมีอำนาจ เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้นและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จอันดียิ่งขึ้น
การประกวดผลงานครั้งนี้มี ซาโนฟี่และองค์กร Rainbow Across Borders ซึ่งเป็นพันธมิตรเพื่อผู้ป่วยองค์กรแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นผู้นำ มีผู้ส่งผลงานเข้าแข่งขัน 58 แผนงานจาก 12 ประเทศ ตั้งแต่แผนงานที่มุ่งส่งเสริมผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไปจนถึงการสนับสนุนผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งด้วยแนวทางชีวันตารักษ์ (การดูแลแบบประคับประคอง)
"เสียงตอบรับอย่างท้วมท้นจากกลุ่มต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประกวดตอกย้ำให้เห็นความกระตือรือร้นที่ชมรมผู้ป่วยและกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนผู้ป่วยต้องการจะเรียนรู้จากกลุ่มอื่น ๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนวิธีดำเนินงานที่ดี ซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์หลักของรางวัลนี้ด้วยเช่นกัน" ดร.ฌอง-ลุค โลวินสกี รองประธานอาวุโสของซาโนฟี่ เอเชีย กล่าว
โดยทุกแผนงานที่ได้รับรางวัล ผ่านการพิจารณาด้านการออกแบบแผนงานและเนื้อหา รวมทั้งผลกระทบที่เกิดต่อผู้ป่วยและผลลัพธ์ที่ผู้ป่วยได้รับ หลังจากการประเมินแผนงาน 2 รอบโดยกลุ่มบุคลากรในสาขางานเดียวกันให้คะแนน และคณะกรรมการอิสระคัดเลือกอีกครั้งหนึ่งจึงได้ผู้ชนะ 10 แผนงานจาก 8 ประเทศ
สำหรับผลงานที่ควรค่าต่อการเป็นแบบอย่างให้ชมรมและกลุ่มอื่น ๆ ได้เรียนรู้ ได้แก่ "แผนงานจัดการโรคเรื้อรังด้วยตนเอง" (Chronic Disease Self-Management Program) โดยสมาคมการจัดการโรคเรื้อรังด้วยตนเอง (Japan Chronic Disease Self-Management Association) ประเทศญี่ปุ่น "แผนงานส่งเสริมและดูแลผู้พิชิตโรคมะเร็งตามอาการ" (Cancer Survivors' Supportive Care and Empower Program) โดยมูลนิธิโรคมะเร็งแห่งฟอร์โมซา (Formosa Cancer Foundation) ประเทศไต้หวัน "เครือข่ายชุมชนในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง" (Community Network in Palliative Care) โดยบ้านเรเชล (Rachel House) ประเทศอินโดนีเซีย "แผนงานให้การศึกษาโดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเวช" (FamilyLink Education Program for Carers of Psychiatric Patients) โดยสมาคมผู้สนับสนุนสุขภาพจิตโดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมแห่งฮ่องกง (Hong Kong FamilyLink Mental Health Advocacy Association) ประเทศฮ่องกง "บ้านพักพิงสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง" (Shelter Home for Cancer Patients) โดยศูนย์สนับสนุนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง (Cancer Information and Support Center) ประเทศอินโดนีเซีย “แผนงานส่งผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังบำบัดกลับสู่สังคมไปช่วยสังคม" (Cancer Rehabilitant's Back to Society, Help the Society) โดยสมาพันธ์บำบัดรักษาโรคแห่งฮ่องกง (Hong Kong Health Care Alliance) ประเทศฮ่องกง "ความฝันของเด็ก ๆ" (Children's Dreams) โดยกลุ่ม Healthy children, Happy children ประเทศเวียดนาม "ค่ายฤดูร้อนประจำปีสำหรับเด็กโรคเบาหวาน" (Annual Summer Diabetes Camp) โดยมูลนิธิค่ายสายรุ้ง (Rainbow Camp Foundation) ประเทศฟิลิปปินส์ "โรคหายาก+ผู้นำ" (Rare+Leader) โดยองค์กรโรคหายากแห่งประเทศจีน (Chinese Organization for Rare Disorders) ประเทศจีน และ "กลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง" (Pediatric Cancer Support Group) โดยมูลนิธิสายธารแห่งความหวัง (Wishing Well Foundation) ประเทศไทย โดยผู้ชนะแต่ละรายจะได้รับการอุปถัมภ์จากซาโนฟี่ เป็นมูลค่าสูงสุด 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับใช้จัดฝึกอบรมและจัดงานสร้างศักยภาพเพื่อสร้างเสริมทักษะการดึงผู้ป่วยเข้ามามีส่วนร่วมให้แก่ PAG ในอนาคต
"บรรดาผลงานที่ส่งเข้าประกวดเป็นเสมือนการยกย่องผลงานที่เป็นรูปธรรมของชมรมและกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนผู้ป่วยที่มีความมุ่งมั่นมากมายหลายกลุ่มทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้นำและสมาชิกชมรมผู้ป่วยจะได้รับแรงบันดาลใจและเก็บเกี่ยวแนวคิดใหม่ ๆ ซึ่งจะมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการออกแบบแผนงานในอนาคตขององค์กรเหล่านั้น" นายราชคันธ์ รามาน กรรมการบริหารขององค์กร Rainbow Across Borders กล่าว
ปัจจุบันชมรมผู้ป่วยกำลังมีบทบาทสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในการช่วยเหลือและสร้างอำนาจให้แก่ผู้ป่วยเพื่อให้สามารถควบคุมภาวะของตนเองและจัดการสุขภาพของตนได้ดีขึ้น กิจกรรมของชมรมผู้ป่วยแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและโรคที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ แผนงานให้การสนับสนุนระหว่างกลุ่มผู้มีภาวะเดียวกันและการให้คำปรึกษาในโรงพยาบาล ไปจนถึงการรณรงค์ให้มีนโยบายที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลต้องคำนึงถึงทัศนะของผู้ป่วยด้วยเมื่อจะดำเนินการเรื่องใด ๆ