ครบรอบ 1 ปี “ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ” โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ชูแนวทางการรักษาแบบครบวงจรด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสหสาขา

ครบรอบ 1 ปี “ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ” โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ชูแนวทางการรักษาแบบครบวงจรด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสหสาขา

ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับมีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้น บางส่วนมีสาเหตุเกิดจาก การใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ทั้งเรื่องการรับประทานอาหารมากไป น้อยไป อาหารรสจัดเกินไป ภาวะความเครียดจากการทำงาน หรือภาระต่าง ๆ ในครอบครัว รวมไปถึงขาดการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียดสะสม และเจ็บป่วยง่าย ฉะนั้น การป้องกันโรคร้ายที่ดีที่สุดคือ รู้ให้ทันโรคและปรับการดำเนินชีวิตให้สมดุล ทั้งร่างกาย และจิตใจ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปให้ห่างจากโรค รวมถึงเป็นผู้นำด้านการดูแลรักษาที่ทันสมัย โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) จัดงานครบรอบ 1 ปี “ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ” เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นศูนย์กลางรักษาโรคซับซ้อนและเฉพาะทางด้านโรคทางเดิน อาหารและตับที่ครบวงจร ด้วยแพทย์สหสาขาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาระดับแนวหน้าของเมืองไทย

รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ ประธานศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานว่า ศูนย์ทางเดินอาหารและตับของโรงพยาบาลฯ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก รวม 29,872 ราย มีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 61 มีผู้เข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหารรวมทั้งหมด 2,905 ราย สำหรับ 5 โรคที่พบมากในผู้ป่วยที่เข้ามารักษากับศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ได้แก่ โรคกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อน โรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคมะเร็งลำไส้และทวารหนัก และโรคมะเร็งตับ โดยพบว่ากว่าร้อยละ 34 ของผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการจะมาด้วยอาการปวดท้อง ไม่สบายท้อง หรืออาหารไม่ย่อย ซึ่งทางโรงพยาบาลจะให้บริการตรวจ ให้คำปรึกษาแบบผู้ป่วยนอก ให้บริการส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อระบบทางเดินอาหารและตับ และให้บริการผ่าตัดและรักษาโรคระบบทางเดินอาหารและตับตามอาการของโรค

“จุดเด่นของศูนย์ทางเดินอาหารและตับของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ คือ การรวมตัวกันระหว่างอายุรแพทย์และศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและพร้อมไปด้วยประสบการณ์ด้านการรักษา โดยเฉพาะโรคทางเดินอาหารที่มีความยากและซับซ้อนในการดูแลรักษา อาทิ โรคมะเร็งตับ การรักษาโรคด้วยวิธีการส่องกล้อง ในทุกรูปแบบ โดยศูนย์ทางเดินอาหารและตับจะประกอบไปด้วย ทีมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร แพทย์ศัลยกรรมทางเดินอาหาร และวิสัญญีแพทย์ ตลอดจนแพทย์สาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ รังสีแพทย์ และแพทย์ให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งมีอุปกรณ์การสืบค้นและการรักษาที่ครบวงจรภายในที่เดียวกัน โดยอยู่ในความดูแลของวิสัญญีแพทย์ในกรณีที่ต้องมีการส่องกล้องตรวจหรือการผ่าตัดทุกราย” รศ.นพ.สมชาย กล่าว

“ปัจจุบันนี้ศูนย์ทางเดินอาหารและตับของเรามีทั้งแพทย์ที่มีความสามารถระดับแนวหน้าของประเทศ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อน และลดระยะเวลาการพักฟื้นของผู้ป่วย ล่าสุดศูนย์ทางเดินอาหารและตับได้นำเทคโนโลยีการผ่าตัดหลอดอาหารส่วนปลายที่ไม่ทำงานด้วยการส่องกล้อง (Peroral Endoscopic Myotomy: POEM) ซึ่งขณะนี้เราเป็นศูนย์ที่ให้บริการรักษาด้วยวิธีนี้มากที่สุดในประเทศไทย”

นอกจากนี้ รศ.นพ.สมชาย ยังระบุเพิ่มเติมถึงทิศทางการพัฒนาศูนย์ทางเดินอาหารและตับในอนาคตว่า ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ SiPH จะมีการต่อยอดด้านการพัฒนาคุณภาพผ่านแนวทางการดูแลผู้ป่วย โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการบริการ อาทิ การดูแลผู้ป่วยภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน และวางแผนจะเป็นศูนย์รับและส่งต่อผู้ป่วยซับซ้อนทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ รวมถึงเป็นหน่วยงานตัวแทนของประเทศไทยที่จะพัฒนานวัตกรรมในการรักษา ริเริ่มงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเดินอาหารและตับ จะเป็นเสมือน “โมเดล” ให้แก่ศูนย์อื่น ๆ ในการเจริญรอยตามขึ้นมาในอนาคต

ด้าน รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ กล่าวว่า ระบบทางเดินอาหารแบ่งออกเป็น “ทางเดินอาหารตอนบน” ประกอบด้วย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก มีหน้าที่โดยตรงในการย่อยอาหาร ดูดซึมอาหาร กำจัดกากอาหารและของเสียออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระ ซึ่งอวัยวะทั้งหมดนี้สามารถเกิดภาวะเลือดออกได้เสมอ ทั้งที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) และต้องตรวจสืบค้นด้วยวิธีเฉพาะเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร เป็นต้น ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่พบในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง และภาวะนี้พบได้ในทุกอายุ แต่โดยทั่วไปเป็นภาวะที่พบในผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ หลอดเลือดดำในหลอดอาหารโป่งพอง เช่น จากภาวะมีความดันสูงในระบบไหลเวียนเลือดของตับ หลอดอาหารอักเสบ มีแผลในหลอดอาหาร โรคกรดไหลย้อน มะเร็งหลอดอาหาร ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ส่งผลให้เลือดออกง่าย โรคของกระเพาะอาหาร โรคของลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่อักเสบ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคริดสีดวงทวาร ฯลฯ

“ไลฟ์สไตล์คนเมืองที่เร่งรีบ ทำให้ต้องเผชิญกับภาวะความเครียด การรับประทานอาหารที่ไม่ตรงเวลาและอาหารที่ไม่มีคุณภาพ ทั้งอาจด้วยกรรมวิธีการปรุง หรือวัตถุดิบที่นำมาปรุง ร่วมกับอาจมีสาเหตุอื่นทำให้เป็นโรคร้าย อย่างโรคท็อปฮิตในปัจจุบันที่มักพบบ่อยในกลุ่มคนเมืองคือ โรคกรดไหลย้อน ในประเทศไทยพบว่าผู้มีอาการปวดท้องตอนบนจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน ซึ่งกรดไหลย้อนจะพบทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย จริงแล้ว ๆ โรคนี้สามารถรักษาได้ แต่หากปล่อยไว้เรื้อรังจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และมีส่วนน้อยมากที่อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งหลอดอาหาร สำหรับสาเหตุของกรดไหลย้อนเกิดจากความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร การบีบตัวของหลอดอาหารผิดปกติ และภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวมากส่งผลให้แรงดันในช่องท้องสูง รวมถึงพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารมัน การรับประทานและนอนทันทีในบางราย” รศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าว

“วิธีการตรวจรักษา หรือแนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อนประกอบด้วย การปรับพฤติกรรมร่วมกับรับประทานยาลดการคัดหลั่งของกรดเป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังอาจใช้การรักษาด้วยการส่องกล้องหรือการผ่าตัด”

ในด้านการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยโรคตับนั้น รศ.นพ.ทวีศักดิ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการรักษาโรคตับแข็ง และมะเร็งตับในปัจจุบันว่า สำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา และหาสาเหตุของโรคเพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ หลอดเลือดโป่งพองบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออก ภาวะน้ำในช่องท้องหรือท้องมาน ตรวจค้นหามะเร็งตับที่อาจเกิดขึ้นในตับแข็ง เป็นต้น ซึ่งในรายที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้แล้ว จึงจะพิจารณาการผ่าตัดปลูกถ่ายตับต่อไป

“ที่ศูนย์ทางเดินอาหารและตับมีเทคโนโลยีในการตรวจรักษาโรคตับที่ก้าวหน้าระดับสากล อาทิ ไฟโบรสแกน (Fibroscan) เป็นเครื่องตรวจดูสภาพการเกิดพังผืดในเนื้อตับด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อันเป็นเทคโนโลยีการแพทย์ล่าสุดที่ใช้กันอยู่ โดยอาศัยหลักการว่าเนื้อตับปกติจะมีลักษณะนิ่ม แต่ถ้ามีพังผืดมาก หรือแข็งมาก เนื้อตับก็จะแน่นมากกว่าปกติ ปัจจุบันเครื่องนี้ได้ถูกนำมาใช้ประเมินสภาพความแข็งของเนื้อตับเพื่อทดแทนการเจาะชิ้นเนื้อตับ ผลที่ได้จากการตรวจจะช่วยในการพยากรณ์โรคแทรกซ้อน เพื่อติดตามผลและประเมินโรคที่เป็น โดยไม่เกิดความเจ็บปวดใด ๆ ต่อร่างกาย ลดอัตราภาวะแทรกซ้อนของการเจาะตับได้ และยังลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการนอนโรงพยาบาลอีกด้วย”