การที่คณะกรรมการแพทยสภาเป็นผู้กล่าวโทษแพทย์เสียเอง : ชอบธรรมหรือไม่

การที่คณะกรรมการแพทยสภาเป็นผู้กล่าวโทษแพทย์เสียเอง : ชอบธรรมหรือไม่ Thai Medical Council Committee Accused Against Medical Practitioner: Is It Right?

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* 
*รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

           การที่แพทยสภามีวัตถุประสงค์หลักข้อหนึ่งคือ “ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม” ตามมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25251 นั้น ทำให้แพทยสภาซึ่งเป็นนิติบุคคลในฐานะองค์กรของรัฐมีอำนาจหน้าที่หลายประการ โดยเฉพาะการที่ออกข้อบังคับหลายฉบับ เช่น ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25492 ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25483 เป็นต้น เพื่อให้เป็นหลักในเรื่องการทำหน้าที่ดังกล่าว อีกทั้งเมื่อมีข้อบังคับแล้ว แพทยสภายังอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25251 ในการที่กล่าวโทษแพทย์ว่าได้กระทำการผิดตามข้อบังคับเหล่านั้นด้วย (ภาพที่ 1 และภาพที่ 2) เช่นนี้หากดูเผิน ๆ ก็เหมือนว่าน่าจะ “เหมาะสมแล้ว” แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งโดยหลักแห่งความยุติธรรม (ระบบธรรมาภิบาล) แล้วก็อาจมีผู้ตั้งคำถามหรือเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้ว่า “การที่แพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพและเป็นผู้ที่ออกกฎเกณฑ์เอง กล่าวโทษเอง ตัดสินเอง จะกลายเป็นเสมือนองค์กรที่รวบอำนาจทั้งในด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ในองค์กรเดียวกัน”  โดยเฉพาะในประเด็นการพิจารณาคดีด้านจริยธรรม ซึ่งในขณะนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่งเพราะถือว่าเป็น “การพิจารณาทางปกครอง” และ “การทำคำสั่งทางปกครอง” ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกล่าวโทษอย่างแน่นอน

……………….“การที่แพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพและเป็นผู้ที่ออกกฎเกณฑ์เอง กล่าวโทษเอง ตัดสินเอง จะกลายเป็นเสมือนองค์กรที่รวบอำนาจทั้งในด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ในองค์กรเดียวกัน”  โดยเฉพาะในประเด็นการพิจารณาคดีด้านจริยธรรม ซึ่งในขณะนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่งเพราะถือว่าเป็น “การพิจารณาทางปกครอง” และ “การทำคำสั่งทางปกครอง” ……………..ฯลฯ

ประเด็นการดำเนินคดีด้านจริยธรรมที่น่าสงสัยโดยองค์กรวิชาชีพ5 (แพทยสภา) ในเรื่องการเป็นผู้กล่าวโทษแพทย์ (ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม)

            ประเด็นที่สำคัญยิ่งในเกี่ยวกับคดีจริยธรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25251 เห็นได้ชัดว่าแพทยสภามีอยู่ด้วยกัน 2 ฐานะ คือ

            1. ฐานะการเป็นผู้กล่าวโทษ หรือในทางคดีปกครองเรียกว่า “คู่กรณี” ปรากฏอยู่ในมาตรา 32 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25251 (ภาพที่ 3 และ ภาพที่ 4)

            2. ฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดหรือในทางคดีปกครองก็คือ “ผู้พิจารณาทางปกครอง” (ภาพที่ 5) ปรากฏอยู่ในมาตรา 39 วรรค 3 นั่นเอง ซึ่งขัดกับหลักในมาตรา 13(1) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 25394 อย่างชัดเจน

            “มาตรา ๓๒ บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นโดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา

          บุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา

            คณะกรรมการมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้มีพฤติการณ์ที่สมควรให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม

          สิทธิการกล่าวหา และสิทธิการกล่าวโทษ สิ้นสุดลงเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้กล่าวโทษรู้เรื่องการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมดังกล่าวและรู้ตัวผู้ประพฤติผิด ทั้งนี้ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่มีการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม

          การถอนเรื่องการกล่าวหาหรือการกล่าวโทษที่ได้ยื่นไว้แล้วนั้นไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้”

           มาตรา ๓๙ เมื่อคณะกรรมการได้รับสำนวนการสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการสอบสวนแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและความเห็นดังกล่าว

          คณะกรรมการอาจให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้

          คณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไป

          (๑) ยกข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษ

          (๒) ว่ากล่าวตักเตือน

          (๓) ภาคทัณฑ์

          (๔) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสองปี

          (๕) เพิกถอนใบอนุญาต

          ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕ คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด และให้ทำเป็นคำสั่งแพทยสภา”

            มาตรา ๕ ในพระราชบัญญัตินี้

          “วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองหรือกฎ และรวมถึงการดำเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้

          “การพิจารณาทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง

          “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

          (๑) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

          ………………….ฯลฯ

 

            กรณีดังกล่าวนี้จึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

            มาตรา ๑๓ เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้

          (๑) เป็นคู่กรณีเอง

          (๒) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี

          (๓) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น

          (๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี

          (๕) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี

          (๖) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

            “คู่กรณี” หมายความว่า ผู้ยื่นคำขอหรือผู้คัดค้านคำขอ ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง เนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง

แนวทางความเห็น

            ความเห็นในเรื่องอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาโดยคณะกรรมการแพทยสภาในกรณีเป็นผู้กล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และในขณะเดียวกันเป็นผู้พิจารณาทางปกครองจนถึงการทำคำวินิจฉัยซึ่งถือว่าเป็นการทำคำสั่งทางปกครองนั้นสมควรหรือไม่เพียงใดนั้น มีด้วยกัน 2 ความเห็น ดังนี้

            ความเห็นที่ 1: แพทยสภากล่าวโทษและทำการวินิจฉัยชี้ขาดได้ด้วยนั้นถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

            1. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25251 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นมาและใช้บังคับมาอย่างช้านาน ยังไม่เคยมีปัญหาในเรื่องมาตรา 32 วรรค 3 แต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นกฎหมายในระดับศักดิ์ถึง “พระราชบัญญัติ” จึงต้องมีผลบังคับใช้ (กฎหมายเขียนไว้อย่างใดก็ต้องทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้) และหากได้กระทำการตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมต้องมีผลในทางกฎหมายถือเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย

            2. แม้ว่าพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 จะเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นก่อนพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 25394 แต่ต้องถือว่าพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 เป็น “กฎหมายเฉพาะ” ไม่เหมือนอย่างกฎหมายทั่วไป ดังนั้น จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะด้วยจึงไม่ขัดกับหลักในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 25394 แต่อย่างใด

            3. ตามมาตรา 32 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25251 แพทยสภามิใช่คู่กรณีโดยตรง แต่เป็นการดำเนินการโดย “เลขาธิการ” ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 33 จึงเท่ากับเฉพาะเลขาธิการแพทยสภาเท่านั้นที่เป็นคู่กรณี หากเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมก็แก้ไขได้โดยให้เลขาธิการแพทยสภาไม่สามารถเข้าร่วมในการทำคำวินิจฉัยตามมาตรา 39

            ความเห็นที่ 2: แพทยสภาสมควรเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเท่านั้น ไม่สมควรเป็นผู้กล่าวโทษด้วย เพราะมิเช่นนั้นจะไม่ให้ความยุติธรรมและไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนี้

            1. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 25394 เป็นกฎหมายที่ต้องถือว่า “เป็นกฎหมายกลาง” ในเรื่อง “การพิจารณาทางปกครอง” และ “การทำคำสั่งทางปกครอง” การที่แพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพและทำคำสั่งในทางปกครอง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ด้วย ตามบทบัญญัติในมาตรา 3

            มาตรา ๓ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้”

            ซึ่งหมายความว่า “อย่างน้อยต้องปฏิบัติไม่ด้อยไปกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั่นเอง” 4

            2. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 25394 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในภายหลัง แม้ว่าพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 จะเป็นกฎหมายตามศักดิ์พระราชบัญญัติที่อ้างว่าเป็น “กฎหมายเฉพาะ” ก็ตาม แต่เมื่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ออกมาภายหลังและมีศักดิ์แห่งกฎหมายเท่าเทียมกันแล้ว พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25251 จึงต้องอยู่ภายใต้กรอบแห่งเกณฑ์ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ด้วย

            3. ยิ่งกว่านั้นในตอนท้ายของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ในส่วนของหมายเหตุแห่งการตราพระราชบัญญัตินี้ มีข้อความดังนี้

            “หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยที่การดำเนินงานทางปกครองในปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่เหมาะสม จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับการดำเนินงานทางปกครองขึ้นเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย มีประสิทธิภาพในการใช้บังคับกฎหมายให้สามารถรักษาประโยชน์สาธารณะได้ และอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

            แสดงให้เห็นว่าการตราพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 25394 ขึ้นเพื่อเหตุ 5 ประการหลักคือ

                        1. ให้การดำเนินงานเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย

                        2. ให้มีประสิทธิภาพในการใช้บังคับกฎหมาย

                        3. ให้สามารถรักษาประโยชน์สาธารณะได้

                        4. อำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน

                        5. เป็นการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

            ดังนั้น แพทยสภาจึงต้องปฏิบัติตามข้อที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนี้ด้วย

            4. แม้ว่าในข้อเท็จจริงนั้น “เลขาธิการแพทยสภาจะเป็นผู้ที่ดำเนินการกล่าวโทษ” และส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการจริยธรรมของแพทยสภาก็ตาม ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการกล่าวโทษโดยเลขาธิการแพทยสภา เพราะเมื่ออ่านมาตรา 32 วรรค 3 และมาตรา 33 แล้วจะเห็นได้ว่า การดำเนินการของ “เลขาธิการแพทยสภา” นั้น เป็นไปตามมติของ “คณะกรรมการ” (คณะกรรมการแพทยสภา) นั่นเอง ในลักษณะของ “ตัวการ-ตัวแทน” การทำหน้าที่ของเลขาธิการแพทยสภา ณ ที่นี้คือ “การทำหน้าที่ของคณะกรรมการแพทยสภาอย่างเต็มตัวแล้ว”

คดีที่เป็นอุทาหรณ์ (ที่แพทยสภาต้องให้ความสนใจ)

            “คดีกักศพ” ที่แสดงให้เห็นถึงว่า “การที่ผู้ที่เป็นผู้กล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” กลับมาเป็น “ผู้ที่วินิจฉัยโทษของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นด้วย” ย่อมถือว่าไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

            ศาลปกครองสูงสุด: คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๒๖๗-๒๖๙/๒๕๕๓

            ……………………………………………………………………....ฯลฯ

          พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการประชุมคณะกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๖ มิได้กำหนดกรณีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองต้องมีความเป็นกลาง กรณีจึงต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๓ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ (๑) เป็นคู่กรณีเอง มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่าเมื่อมีกรณีตามมาตรา ๑๓ หรือคู่กรณีคัดค้านว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดเป็นบุคคลตามมาตรา ๑๓ ให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อน และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งทราบ เพื่อที่ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวจะได้มีคำสั่งต่อไป และวรรคสอง บัญญัติว่า การยื่นคำคัดค้านการพิจารณาคำคัดค้าน และการสั่งให้เจ้าหน้าที่อื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ที่ถูกคัดค้านให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เมื่อมีกรณีตามมาตรา ๑๓ หรือคู่กรณีคัดค้านว่ากรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองคณะใดมีลักษณะดังกล่าว ให้ประธานกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเหตุคัดค้านนั้น ในการประชุมดังกล่าวกรรมการผู้ถูกคัดค้านเมื่อได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและตอบข้อซักถามแล้วต้องออกจากที่ประชุม วรรคสอง บัญญัติว่าถ้าคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองคณะใดมีผู้ถูกคัดค้านในระหว่างที่กรรมการผู้ถูกคัดค้านต้องออกจากที่ประชุม ให้ถือว่าคณะกรรมการคณะนั้นประกอบด้วยกรรมการทุกคนที่ไม่ถูกคัดค้าน วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าที่ประชุมมีมติให้กรรมการผู้ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้านก็ให้กรรมการผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ มติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับและให้เป็นที่สุด และวรรคสี่ บัญญัติว่า การยื่นคำคัดค้านและการพิจารณาคำคัดค้านให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในการประชุมคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดที่ห้า ที่ได้พิจารณาข้อร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแล้วมีมติว่าคดีมีมูลนั้น คณะอนุกรรมการที่ได้ประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวประกอบด้วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เป็นที่ปรึกษา นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นอนุกรรมการส่วนการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ ๘/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๒ ที่ได้พิจารณามีมติว่าคดีมีมูล ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดที่ห้า และการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาครั้งที่ ๓/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๔ ที่ได้พิจารณาลงโทษผู้ฟ้องคดีนั้นปรากฏว่านายแพทย์ชูชัยเข้าร่วมประชุมด้วย เห็นว่ามูลกรณีของการสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีทั้งสามเกิดจากการร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งมีนายแพทย์ชูชัยดำรงตำแหน่งกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อันถือได้ว่าเป็นคู่กรณีโดยตรงตามมาตรา ๑๓(๑) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และแม้นายแพทย์ชูชัยมิได้ออกความเห็นและมิได้ร่วมลงคะแนนเสียงในการประชุมพิจารณาโทษผู้ฟ้องคดีทั้งสาม แต่ก็ต้องห้ามมิให้ทำการพิจารณาทางปกครอง และในกรณีเช่นนี้คู่กรณีมีสิทธิคัดค้านเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาทางปกครองที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้หรือแม้ว่าจะไม่มีการคัดค้าน เจ้าหน้าที่ก็จะต้องหยุดการพิจารณาไว้ก่อน และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาเป็นคณะกรรมการ ประธานกรรมการจะต้องดำเนินการเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเหตุคัดค้านนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แต่ตามข้อเท็จจริงนั้นไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดที่ห้า และผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด และแม้นายแพทย์ชูชัยจะเป็นเพียงกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มิได้มีอำนาจในการตัดสินใจเด็ดขาดเพียงผู้เดียว แต่เมื่อนายแพทย์ชูชัยเป็นถึงกรรมการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ย่อมอาจทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการเกิดความเกรงใจหรืออาจชักจูงให้กรรมการคนอื่นเห็นชอบด้วยได้ อีกทั้งนายแพทย์ชูชัยได้แสดงความเห็นต่อสาธารณชนในลักษณะพาดพิงและเป็นปรปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ก่อนที่จะมีการพิจารณาโดยที่ประชุมของผู้ถูกฟ้องคดี ดังนั้น การดำเนินการพิจารณาทางปกครองของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ชุดที่ห้า และคณะกรรมการแพทยสภาที่มีนายแพทย์ชูชัยถือได้ว่ามีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง การออกคำสั่งทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งสภาพร้ายแรงดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและถูกเพิกถอนได้

            ………………………ฯลฯ

            จึงเห็นได้ว่าหากแพทยสภายังคงดำเนินการกล่าวโทษตามมาตรา 32 วรรค 3 อยู่ต่อไปย่อมจะต้องเกิดอย่างกรณีอุทาหรณ์ข้างต้นขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้แพทยสภาต้องเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์อย่างมาก

 

วิเคราะห์และข้อเสนอแนะ

            1. บทบัญญัติในมาตรา 32 วรรค 3 ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525:1

            การที่พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับแล้วถึง 31 ปี ทำให้บางส่วนโดยเฉพาะในกระบวนการพิจารณาทางปกครองและการทำคำสั่งทางปกครองอาจไม่เหมาะสมกับยุคสมัย และกาลเวลาในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิ ความยุติธรรม ความเป็นธรรมหรือธรรมาภิบาล ยิ่งเมื่อมีหลักเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 25394 ด้วยแล้ว แพทยสภาจึงจำต้องปรับกระบวนการดำเนินการเสียใหม่เพื่อให้ทันยุคทันสมัย

            2. กระบวนการพิจารณาทางปกครองและการทำคำสั่งทางปกครอง:

            เห็นได้ชัดว่า การใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 32 วรรค 3 และมาตรา 39 วรรค 3 “ผิดต่อหลักเกณฑ์ในเรื่องธรรมาภิบาล” อย่างชัดเจน อีกทั้งยังขัดกับหลักในกฎหมายพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (ดูมาตรา 13) อย่างชัดเจนด้วย

            3. ข้อเสนอแนะ:

            ในขณะที่ยังมิได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ทำให้มาตรา 32 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ และเห็นได้ชัดว่าขัดกับหลักในเรื่อง “ธรรมาภิบาล” และ “พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539”4 อย่างชัดเจนในเรื่อง 1) การพิจารณาทางปกครอง และ 2) การทำคำสั่งทางปกครอง แต่แพทยสภาย่อมสามารถที่จะดำเนินการอย่างเหมาะสมโดยเหตุและผลได้ กล่าวคือ แพทยสภาสมควรงดเว้นการดำเนินการตามมาตรา 32 วรรค 3 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมีศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) และองค์กรวิชาชีพ (แพทยสภา) นั่นเอง

            4. ข้อสังเกต:

            องค์กรวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขอื่น ๆ เช่น สภาการพยาบาล เภสัชสภา สภาทันตแพทย์ ฯลฯ ก็มีบทบัญญัติของกฎหมายแห่งวิชาชีพตนในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 25251 จึงสมควรที่จะให้คำแนะนำกับองค์กรวิชาชีพอื่นดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

 

สรุป

            กระบวนการพิจารณาคดีด้านจริยธรรมเป็นเรื่อง “การพิจารณาทางปกครอง” และ “การทำคำสั่งทางปกครอง” จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

          1. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

            2. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549. http://www.tmc.or.th/service_law02_17.php

            3. ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับคดีด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2548. ราชกิจจานุเบกษา, 2548; 122 (ตอนพิเศษ 50ง) ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2548: 18-38. http://law.longdo.com/law/532/sub39995.

            4. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๖๐ ก/หน้า ๑/๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๙.

            5. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์. อาชีวปฏิญาณ ใน: แสวง บุญเฉลิมวิภาส, บรรณาธิการ. รวมคำบรรยายหลักวิชาชีพกฎหมาย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2531: 1-4.