อัตราตายส่วนเกินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

อัตราตายส่วนเกินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

N Engl J Med 2015;373:1720-1732.

บทความเรื่อง Excess Mortality among Persons with Type 2 Diabetes รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลความเสี่ยงส่วนเกินของการตายทุกสาเหตุและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึงผู้ที่คุมน้ำตาลและมีภาวะแทรกซ้อนของไตแต่ละระดับ ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาความเสี่ยงตามระดับการควบคุมน้ำตาลและภาวะแทรกซ้อนของไตในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

งานวิจัยรวบรวมผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งลงทะเบียนใน Swedish National Diabetes Register ในวันที่หรือหลังวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1998 โดยเทียบผู้ป่วยแต่ละคนกับกลุ่มควบคุม 5 คนจากกลุ่มประชากรทั่วไปซึ่งเทียบเคียงกันด้านอายุ เพศ และที่อยู่ อาสาสมัครทั้งหมดได้รับการติดตามถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2011 จากทะเบียน Swedish Registry for Cause-Specific Mortality

การติดตามมีระยะเฉลี่ย 4.6 เดือนในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน และ 4.8 เดือนในกลุ่มควบคุม โดยรวมพบผู้ป่วยเสียชีวิต 77,117 รายจาก 435,369 รายในกลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน (17.7%) เทียบกับ 306,097 รายจาก 2,117,483 รายในกลุ่มควบคุม (14.5%) (adjusted hazard ratio 1.15; 95% confidence interval [CI] 1.14-1.16) อัตราตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่ากับ 7.9% ในผู้ป่วยเทียบกับ 6.1% ในกลุ่มควบคุม (adjusted hazard ratio 1.14; 95% CI 1.13-1.15) ความเสี่ยงส่วนเกินต่อการตายจากทุกสาเหตุและการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นจากอายุที่น้อยกว่า การควบคุมน้ำตาลที่แย่กว่า และภาวะแทรกซ้อนของไตที่รุนแรงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่า hazard ratio สำหรับการตายทุกสาเหตุในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 55 ปีซึ่งมีระดับ glycated hemoglobin เท่ากับ 6.9% หรือน้อยกว่า (≤ 52 mmol per mole of nonglycated hemoglobin) เท่ากับ 1.92 (95% CI 1.75-2.11) ขณะที่ hazard ratio ในผู้ป่วยอายุ 75 ปีหรือมากกว่าเท่ากับ 0.95 (95% CI 0.94-0.96) ในผู้ป่วยที่เป็น normoalbuminuria พบว่า hazard ratio สำหรับการเสียชีวิตในผู้ที่อายุน้อยกว่า 55 ปี และมีระดับ glycated hemoglobin เท่ากับ 6.9% หรือน้อยกว่าเทียบกับกลุ่มควบคุมเท่ากับ 1.60 (95% CI 1.40-1.82) โดย hazard ratio ในผู้ป่วยอายุ 75 ปีหรือมากกว่าเท่ากับ 0.76 (95% CI 0.75-0.78) และผู้ป่วยอายุ 65-74 ปีมีความเสี่ยงต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญต่อการเสียชีวิต (hazard ratio 0.87; 95% CI 0.84-0.91)

อัตราตายในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อเทียบกับอัตราตายในกลุ่มประชากรทั่วไปแล้วพบว่ามีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมากตามอายุ ระดับการควบคุมน้ำตาล และภาวะแทรกซ้อนของไต