Prophylactic antibiotics หลังสโตรค เพื่อลดปอดอักเสบในผู้ป่วยกลืนลำบาก

Prophylactic antibiotics หลังสโตรค เพื่อลดปอดอักเสบในผู้ป่วยกลืนลำบาก

Lancet. 2015;386(10006):1835-1844.

บทความเรื่อง Prophylactic Antibiotics after Acute Stroke for Reducing Pneumonia in Patients with Dysphagia (STROKE-INF): a Prospective, Cluster-Randomised, Open-Label, Masked Endpoint, Controlled Clinical Trial รายงานว่า ปอดอักเสบหลังสโตรคสัมพันธ์กับอัตราตายที่สูงขึ้นและผลลัพธ์ด้านหน้าที่ที่ไม่ดี ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ประเมินประสิทธิภาพของการใช้ยาปฏิชีวนะเชิงป้องกันเพื่อลดปอดอักเสบในผู้ป่วยกลืนลำบากหลังเกิดสโตรคเฉียบพลัน

งานวิจัยศึกษาแบบ prospective, multicentre, cluster-randomised, open-label controlled trial ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 18 ปีซึ่งมีอาการกลืนลำบากหลังเกิดสโตรคจากหน่วยสโตรค 48 แห่งในสหราชอาณาจักร โดยคัดผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ มีอาการกลืนลำบากมาก่อน หรือติดเชื้อ หรือคาดว่ามีชีวิตอยู่ไม่เกิน 14 วันออกจากการศึกษา จากนั้นได้สุ่มให้ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 7 วัน ร่วมกับการดูแลตามมาตรฐานหรือการดูแลตามมาตรฐานอย่างเดียวสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการส่งตัวเข้าหน่วยสโตรคภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดสโตรค ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ปอดอักเสบหลังสโตรคภายในช่วง 14 วันแรกประเมินจาก hierarchical algorithm ตามเกณฑ์ และการวินิจฉัยของแพทย์ใน intention-to-treat population เช่นเดียวกับผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยซึ่งวิเคราะห์แบบ intention-to-treat

ระหว่างวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2008 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 นักวิจัยได้แบ่งหน่วยสโตรค 48 แห่ง (ผู้ป่วย 1,224 ราย) เป็น 2 กลุ่ม โดย 24 กลุ่มแรกได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และ 24 กลุ่มหลังได้รับการดูแลมาตรฐาน (กลุ่มควบคุม) หน่วยสโตรค 11 แห่ง และผู้ป่วย 7 รายถอนตัวหลังการสุ่มก่อน 14 วัน ทำให้เหลือผู้ป่วย 1,217 รายใน 37 หน่วยสำหรับ intention-to-treat analysis (ผู้ป่วย 615 รายในกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะ และ 602 รายในกลุ่มควบคุม) การป้องกันด้วยยาปฏิชีวนะไม่มีผลต่ออุบัติการณ์ของปอดอักเสบหลังสโตรค (71 ราย [13%] จาก 564 รายในกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะ vs 52 ราย [10%] จาก 524 รายในกลุ่มควบคุม; marginal adjusted odds ratio [OR] 1.21 [95% CI 0.71-2.08], p = 0.489, intraclass correlation coefficient [ICC] 0.06 [95% CI 0.02-0.17] ขณะที่ไม่สามารถยืนยันปอดอักเสบหลังสโตรคในผู้ป่วย 129 ราย (10%) เนื่องจากข้อมูลขาดหายไป นอกจากนี้ยังไม่พบความต่างด้านปอดอักเสบหลังสโตรคซึ่งแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม (101 ราย [16%] จาก 615 ราย vs 91 ราย [15%] จาก 602 ราย, adjusted OR 1.01 [95% CI 0.61-1.68], p = 0.957, ICC 0.08 [95% CI 0.03-0.21] เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ การติดเชื้อซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับปอดอักเสบหลังสโตรค (ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ) ซึ่งพบน้อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะ (22 ราย [4%] จาก 615 ราย vs 45 ราย [7%] จาก 602 ราย; OR 0.55 [0.32-0.92], p = 0.02) และพบท้องร่วงจาก Clostridium difficile ในผู้ป่วย 2 ราย (< 1%) ในกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะ และ 4 ราย (< 1%) ในกลุ่มควบคุม และพบ methicillin-resistant Staphylococcus aureus colonization ในผู้ป่วย 11 ราย (2%) ในกลุ่มที่ได้รับยาปฏิชีวนะ และ 14 ราย (2%) ในกลุ่มควบคุม

ข้อมูลจากการศึกษาไม่แนะนำการป้องกันด้วยยาปฏิชีวนะในฐานะการป้องกันปอดอักเสบหลังสโตรคในผู้ป่วยกลืนลำบากหลังสโตรคซึ่งได้รับการดูแลรักษาในหน่วยสโตรค