การเปิดหลอดเลือดและออกกำลังกายในหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบและ Intermittent Claudication

การเปิดหลอดเลือดและออกกำลังกายในหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบและ Intermittent Claudication

JAMA. 2015;314(18):1936-1944.

บทความเรื่อง Endovascular Revascularization and Supervised Exercise for Peripheral Artery Disease and Intermittent Claudication: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า การออกกำลังกายภายใต้การควบคุมของบุคลากรทางการแพทย์เป็นการรักษาแรกสำหรับ intermittent claudication ซึ่งการรักษาด้วย endovascular revascularization ควบคู่กับการออกกำลังกายภายใต้การควบคุมอาจได้ผลดียิ่งขึ้น แต่ข้อมูลเปรียบเทียบในปัจจุบันยังคงมีจำกัด

งานวิจัยนี้ได้ประเมินประสิทธิผลของ endovascular revascularization (selective stenting) ร่วมกับการออกกำลังกายภายใต้การควบคุมสำหรับ intermittent claudication (n = 106) เทียบกับการออกกำลังกายภายใต้การควบคุมอย่างเดียว (n = 106) ในผู้ป่วยรวม 212 คน การรวบรวมข้อมูลมีขึ้นระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 จากโรงพยาบาล 10 แห่งในประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ป่วยได้รับการติดตามเป็นระยะเวลา 12 เดือน และวิเคราะห์ข้อมูลแบบ intention-to-treat

จุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ ความต่างของระยะเดินสายพานสูงสุดที่ 12 เดือนระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม จุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ ระยะการเดินสายพานโดยไม่มีอาการปวด คะแนน vascular quality of life (VascuQol) (1 [แย่ที่สุด] ถึง 7 [ดีที่สุด]) และคะแนนแบบสอบถาม Short-Form Health Survey (SF-36) สำหรับการทำหน้าที่ทางกาย บทบาททางกาย อาการปวด และสุขภาพทั่วไป (0 [มีภาวะจำกัดรุนแรง] ถึง 100 [ไม่มีภาวะจำกัด])

การรักษาด้วย endovascular revascularization ร่วมกับการออกกำลังกายภายใต้การควบคุม (combination therapy) สัมพันธ์กับระยะเดินสายพานสูงสุดที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (จาก 264 เมตร เป็น 1,501 เมตร) เทียบกับการออกกำลังกายภายใต้การควบคุมอย่างเดียว (จาก 285 เมตร เป็น 1,240 เมตร) (between groups 282 m; 99% CI 60-505 m) และระยะการเดินโดยปราศจากอาการปวด (จาก 117 เมตร เป็น 1,237 เมตร เทียบกับจาก 135 เมตร เป็น 847 เมตร) (mean difference 408 m; 99% CI 195-622 m) นอกจากนี้พบว่ากลุ่มที่รักษาแบบ combination therapy มีผลลัพธ์ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้านคะแนน VascuQol จำเพาะโรค (1.34 [99% CI 1.04-1.64] ในกลุ่ม combination therapy เทียบกับ 0.73 [99% CI 0.43-1.03] ในกลุ่มออกกำลังกาย; mean difference 0.62 [99% CI 0.20-1.03]) และคะแนน SF-36 ด้านการทำหน้าที่ทางกาย (22.4 [99% CI 16.3-28.5] vs 12.6 [99% CI 6.3-18.9], respectively; mean difference 9.8 [99% CI 1.4-18.2]) แต่ไม่พบผลต่างที่มีนัยสำคัญของคะแนน SF-36 ด้านบทบาททางกาย อาการปวด และสุขภาพทั่วไป

หลังการติดตาม 1 ปีในผู้ป่วยที่มี intermittent claudication พบว่า การรักษาด้วย endovascular revascularization ร่วมกับการออกกำลังกายภายใต้การควบคุมทำให้มีผลลัพธ์ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้านระยะการเดินและคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพเมื่อเทียบกับการออกกำลังกายอย่างเดียว