Liraglutide ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ฉีดอินซูลินหลายครั้ง
BMJ 2015;351:h5364.
บทความเรื่อง Liraglutide in People Treated for Type 2 Diabetes with Multiple Daily Insulin Injections: Randomised Clinical Trial (MDI Liraglutide trial) รายงานข้อมูลจากงานวิจัยแบบ randomised, double-blind, placebo controlled trial เพื่อศึกษาผลของ liraglutide ซึ่งเป็น incretin based treatment ต่อการควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งฉีดอินซูลินวันละหลายครั้ง
งานวิจัยรวบรวมข้อมูลจากคลินิกผู้ป่วยนอก 13 แห่ง และหน่วยบริการปฐมภูมิ 1 แห่งในประเทศสวีเดน ครอบคลุมผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีปัญหาการคุมระดับน้ำตาล (HbA1c concentrations ≥ 58 mmol/mol [7.5%] และ ≤ 102 mmol/mol [11.5%]) มีดัชนีมวลกายระหว่าง 27.5-45 กิโลกรัม/ตารางเมตร และจำเป็นต้องฉีดอินซูลินวันละหลายครั้ง ผู้ป่วยทั้ง 124 รายได้รับการสุ่มเป็นกลุ่มที่ได้รับ liraglutide แบบยาฉีดใต้ผิวหนังหรือยาหลอก ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของระดับ HbA1c จากเริ่มต้นถึง 24 สัปดาห์
การรักษาด้วย liraglutide สัมพันธ์กับการลดลงอย่างมีนัยสำคัญเท่ากับ 16.9 mmol/mol (1.5%) ของระดับ HbA1c เทียบกับ 4.6 mmol/mol (0.4%) สำหรับยาหลอก โดยมีผลต่างเท่ากับ -12.3 mmol/mol (95% confidence interval -15.8 ถึง -8.8 mmol/mol; -1.13%, -1.45 ถึง -0.81 mmol/mol) น้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับ liraglutide เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (3.8 vs 0.0 กิโลกรัม, ผลต่าง -3.8, -4.9 ถึง -2.8 กิโลกรัม) เช่นเดียวกับ total daily insulin doses ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญเท่ากับ 18.1 หน่วย และ 2.3 หน่วย (ผลต่าง -15.8, -23.1 ถึง -8.5 หน่วย) การลดลงของค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของระดับน้ำตาลมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ได้รับ liraglutide เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (-1.9 และ -0.5 mmol/L) ทั้ง 2 กลุ่มไม่พบเหตุการณ์ของภาวะน้ำตาลต่ำที่รุนแรงหรือมีความต่างที่มีนัยสำคัญด้านภาวะน้ำตาลต่ำไม่รุนแรงทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ (< 4.0 หรือ < 3.0 mmol/L) ค่าเฉลี่ยเหตุการณ์ของภาวะน้ำตาลต่ำไม่รุนแรงที่มีอาการ (< 4.0 mmol/L) ระหว่างการติดตามเท่ากับ 1.29 ในกลุ่ม liraglutide และ 1.24 ในกลุ่มยาหลอก (p = 0.96)
งานวิจัยนี้มีข้อจำกัดด้านระยะเวลาการศึกษาที่สั้น และจำเป็นที่จะต้องศึกษาผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วย liraglutide ในระยะยาว โดยพบอาการคลื่นไส้ในอาสาสมัคร 21 ราย (32.8%) ในกลุ่มที่ได้รับ liraglutide และ 5 ราย (7.8%) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก และพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงในอาสาสมัคร 3 ราย (5%) และ 4 ราย (7%) ตามลำดับ
การเพิ่ม liraglutide ร่วมกับการฉีดอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ช่วยให้มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นด้านการคุมระดับน้ำตาลโดยไม่เพิ่มความเสี่ยงน้ำตาลต่ำ ลดน้ำหนักตัว และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลดขนาดอินซูลินได้