ผลต่อระบบหัวใจและไตจากการลดความดันโลหิตเข้มงวด
Lancet. Published Online: 7 November 2015.
บทความเรื่อง Effects of Intensive Blood Pressure Lowering on Cardiovascular and Renal Outcomes: Updated Systematic Review and Meta-Analysis รายงานว่า แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับความดันโลหิตสูงได้ปรับคำแนะนำสำหรับเป้าหมายความดันโลหิตในผู้ป่วยความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ไต หรือเบาหวาน ซึ่งสะท้อนความไม่แน่ใจว่าการลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดสัมพันธ์กับการลดลงของความเสี่ยงเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงและโรคไตหรือไม่
งานวิจัย systematic review และ meta-analysis นี้ได้ศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของการลดความดันโลหิตแบบเข้มงวด โดยสืบค้นข้อมูลจาก MEDLINE, Embase และ Cochrane Library เพื่อรวบรวมงานวิจัยที่ตีพิมพ์ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1950 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015 งานวิจัยที่นำมาศึกษาเป็น randomised controlled trials ซึ่งมีระยะการติดตามอย่างน้อย 6 เดือน และสุ่มให้อาสาสมัครลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดมากกว่าเปรียบเทียบกับเข้มงวดน้อยกว่าตามเป้าความดันโลหิต หรือระดับการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตจากเริ่มต้นที่ต่างกัน ผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์ meta-analysis ด้านการลดลงของความดันโลหิตต่อ relative risk (RR) ของเหตุการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรง (กล้ามเนื้อหัวใจตาย สโตรค หัวใจล้มเหลว หรือการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งแยกกันและรวมกัน) และการตายที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดและการตายทุกสาเหตุ ไตวายระยะสุดท้าย และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ตลอดจน albuminuria และการลุกลามของจอตาเสื่อมในงานวิจัยซึ่งศึกษาในผู้ป่วยเบาหวาน
งานวิจัยที่นำมาศึกษามีจำนวน 19 ฉบับ รวมอาสาสมัคร 44,989 ราย โดยพบเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรง 2,496 เหตุการณ์ระหว่างการติดตามเฉลี่ย 3.8 ปี (พิสัย1.0-8.4 ปี) ข้อมูลจาก meta-analysis ชี้ว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่ลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดมากกว่ามีความดันโลหิตเฉลี่ย 133/76 mmHg, 140/81 mmHg ในกลุ่มที่ลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดน้อยกว่า การลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดมี RR reductions ต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรง (14% [95% CI 4-22]), กล้ามเนื้อหัวใจตาย (13% [0-24]), สโตรค (22% [10-32]), albuminuria (10% [3-16]) และการลุกลามของจอตาเสื่อม (19% [0-34]) อย่างไรก็ดี การลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดมากกว่าไม่มีผลชัดเจนต่อหัวใจล้มเหลว (15% [95% CI -11 ถึง 34]), การตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (9% [-11 ถึง 26]), อัตราตายรวม (9% [-3 ถึง 19]) หรือไตวายระยะสุดท้าย (10% [-6 ถึง 23]) การลดลงด้านเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรงคงที่ในผู้ป่วยทุกกลุ่ม และการลดความดันโลหิตลงไปอีกมีประโยชน์ชัดเจนแม้ในผู้ป่วยที่ความดันซิสโตลิกต่ำกว่า 140 mmHg ขณะที่พบว่า absolute benefits สูงสุดในงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ไต หรือเบาหวาน เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่สัมพันธ์กับการลดความดันโลหิตมีรายงานเฉพาะในงานวิจัย 6 ฉบับ โดยมีอัตราอุบัติการณ์เท่ากับ 1.2% ต่อปีในอาสาสมัครกลุ่มที่ลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดเทียบกับ 0.9% ในกลุ่มที่เข้มงวดน้อยกว่า (RR 1.35 [95% CI 0.93-1.97]) ทั้งนี้ความดันโลหิตต่ำที่รุนแรงพบบ่อยกว่าในกลุ่มที่ลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดมากกว่า (RR 2.68 [1.21-5.89], p = 0.015) แต่มี absolute excess ที่ต่ำ (0.3% vs 0.1% per person-year สำหรับระยะการติดตาม)
การลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดสามารถป้องกันผลลัพธ์ด้านลบต่อหลอดเลือดได้ดีกว่าการลดความดันโลหิตตามมาตรฐาน โดยในผู้ป่วยกลุ่มความเสี่ยงสูงยังพบประโยชน์ที่มากขึ้นจากการลดความดันโลหิตแบบเข้มงวดมากกว่า รวมถึงในผู้ป่วยที่ความดันซิสโตลิกต่ำกว่า 140 mmHg และการลดคามดันโลหิตแบบเข้มงวดมี net absolute benefits ที่ชัดเจนในผู้ป่วยความเสี่ยงสูง