การบำบัดความคิดและพฤติกรรมสำหรับซึมเศร้าและการดูแลตัวเองในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว
JAMA Intern Med. 2015;175(11):1773-1782.
บทความเรื่อง Cognitive Behavior Therapy for Depression and Self-Care in Heart Failure Patients: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า โรคซึมเศร้าและขาดการดูแลตัวเองเป็นปัญหาเชื่อมโยงกันที่พบบ่อยและเพิ่มความเสี่ยงต่อการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว
งานวิจัยแบบ randomized clinical trial นี้ได้ศึกษาประสิทธิผลของการบำบัดความคิดและพฤติกรรมสำหรับโรคซึมเศร้าและการดูแลตัวเองสำหรับหัวใจล้มเหลว โดยศึกษาจากผู้ป่วยที่เข้ารักษายังโรงพยาบาล Washington University Medical Center ระหว่างวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2010 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 2013 และวิเคราะห์ข้อมูลปฐมภูมิเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 อาสาสมัครประกอบด้วยผู้ป่วย 158 รายซึ่งมีหัวใจล้มเหลวใน Class I, II และ III ตามเกณฑ์ New York Heart Association และเป็นโรคซึมเศร้า
อาสาสมัครได้รับการบำบัดความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการดูแลมาตรฐาน หรือได้รับการดูแลมาตรฐานอย่างเดียว ทั้งนี้การดูแลมาตรฐานในทั้ง 2 กลุ่มได้เสริมการให้คำแนะนำด้านโรคหัวใจล้มเหลว ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความรุนแรงของโรคซึมเศร้าที่ 6 เดือนประเมินจาก Beck Depression Inventory และคะแนนจาก Self-Care of Heart Failure Index Confidence และ Maintenance ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การประเมินอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า การทำหน้าที่ทางกาย อ่อนเพลีย บทบาทและกิจกรรมทางสังคม และคุณภาพชีวิต โดยการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตเป็นผลลัพธ์เชิงสำรวจ
ผู้ป่วย 158 รายได้รับการสุ่มเป็นกลุ่มดูแลตามมาตรฐาน (n = 79) หรือกลุ่มบำบัดความคิดและพฤติกรรม (n = 79) ซึ่งในแต่ละกลุ่มพบผู้ป่วย 26 ราย (33%) ที่ได้รับยาต้านซึมเศร้าตั้งแต่เริ่มต้น ผู้ป่วย 132 ราย (84%) เสร็จสิ้นการประเมินหลังการรักษาที่ 6 เดือน โดยมีผู้ป่วย 60 ราย (76%) จากกลุ่มดูแลมาตรฐาน และ 58 ราย (73%) จากกลุ่มบำบัดความคิดและพฤติกรรมที่เสร็จสิ้นการติดตามทั้งหมด (p = 0.88) คะแนนอาการซึมเศร้าที่ 6 เดือนต่ำกว่าในกลุ่มบำบัดความคิดและพฤติกรรมเทียบกับกลุ่มดูแลมาตรฐานเมื่อประเมินจาก Beck Depression Inventory (BDI-II) (12.8 [10.6] vs 17.3 [10.7]; p = 0.008) ทั้ง 2 กลุ่มมีอัตราโรคสงบต่างกันตามที่ประเมินจาก BDI-II (46% vs 19%; number needed to treat [NNT] = 3.76; 95% CI 3.62-3.90; p < 0.001) และ Hamilton Depression Scale (51% vs 20%; NNT = 3.29; 95% CI 3.15-3.43; p < 0.001) แต่ไม่ต่างกันด้านคะแนน Self-Care Maintenance หรือ Confidence ค่าเฉลี่ย (SD) ของคะแนน Beck Depression Inventory ที่ 6 เดือนหลังการสุ่มต่ำกว่าในกลุ่มบำบัดความคิดและพฤติกรรม (12.8 [10.6]) เทียบกับกลุ่มดูแลมาตรฐาน (17.3 [10.7]) โดยมีค่า p = 0.008 จากการศึกษาไม่พบผลต่างที่มีนัยสำคัญระหว่างทั้ง 2 กลุ่มด้านคะแนน Self-Care Maintenance หรือ Confidence หรือการทำหน้าที่ทางกาย คะแนนอาการวิตกกังวลและอ่อนเพลียต่ำกว่า ขณะที่คะแนนคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพจิตและหัวใจล้มเหลว และการทำหน้าที่ทางสังคมสูงกว่าที่ 6 เดือนในกลุ่มบำบัดความคิดและพฤติกรรมเมื่อเทียบกับกลุ่มดูแลมาตรฐาน และกลุ่มบำบัดความคิดและพฤติกรรมมีอัตราการนอนโรงพยาบาลต่ำกว่ากลุ่มดูแลมาตรฐาน
การบำบัดความคิดและพฤติกรรมซึ่งมุ่งไปที่โรคซึมเศร้าและการดูแลตนเองสำหรับหัวใจล้มเหลวได้ผลดีต่อโรคซึมเศร้า ขณะที่ไม่มีผลต่อการดูแลตัวเองสำหรับหัวใจล้มเหลวหรือการทำหน้าที่ทางกายเมื่อเทียบกับการดูแลมาตรฐานที่เสริมการให้คำแนะนำ โดยพบประโยชน์เพิ่มเติม ได้แก่ ลดความวิตกกังวลและอ่อนเพลีย เพิ่มการทำหน้าที่ทางสังคม และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพที่ดีขึ้น