นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันส่วนใหญ่ (80-90%) เป็นโรคที่ไม่ค่อยรุนแรงและมักจะหายภายใน 7 วัน แต่ก็มีประมาณ 10-20% ที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบที่ค่อนข้างรุนแรง และจำเป็นที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่น ๆ
หน้าที่ของแพทย์ที่สำคัญคือ การวินิจฉัยโรคนี้ให้ถูกต้อง ต้องแยกแยะโรคนี้จากโรคอื่น ๆ ที่มีอาการ อาการแสดงคล้ายคลึงกัน เช่น โรคแผลเป็บติกทะลุ โรคหัวใจ โรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือโรคนิ่วในท่อน้ำดีอุดตัน แต่ไม่ได้เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ฯลฯ และรักษาโรคนี้ให้ถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ รวมทั้งป้องกันหรือรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
ประเด็นที่สำคัญสำหรับแพทย์คือ ต้องพยายามแยกผู้ป่วยให้ออกให้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นมากหรือเป็นน้อย โชคดีที่ส่วนใหญ่ 80-90% เป็นน้อย มีเพียง 10-20% ที่เป็นมากรุนแรง พวกที่เป็นมากจะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่เป็นน้อย ผู้ป่วยที่เข้ามายังอาจเป็นไม่มาก ฉะนั้นแพทย์จะต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่าผู้ป่วยจะเป็นมากหรือไม่
หลักการรักษาโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากอะไรก็ตามคือ หนึ่ง หยุดรับประทานอาหารและน้ำทางปาก สอง ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ สาม ใส่สายยางผ่านจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหาร เพื่อดูดน้ำย่อยของกระเพาะอาหารออก เพราะน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร (และอาหารถ้ารับประทานเข้าไป) จะไปกระตุ้นตับอ่อนให้ทำงาน คือการผลิตน้ำย่อยของตับอ่อนนั่นเอง สี่ ให้ยาแก้ปวด ซึ่งก็จะเป็นการฉีดยา การใส่สายยางจะช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการโอ้กอ้ากอีกด้วย และห้า ป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือรักษาภาวะแทรกซ้อนถ้าเกิดขึ้น เมื่อผู้ป่วยหายปวดท้องและไม่มีอาการกดเจ็บท้องอาจเริ่มให้อาหารที่ไม่มันได้
ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันจะหายและกลับบ้านได้ภายใน 5-7 วัน แต่มีจำนวนน้อย (10-20%) ที่เป็นโรคนี้อย่างรุนแรง ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เช่น เข้าหอผู้ป่วยหนัก (I.C.U. - intensive care unit) โดยมากผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบ โดยเฉพาะในรายที่เป็นมากจะมีการเสียน้ำออกจากตับอ่อนออกมานอกตับอ่อนมาก ทำให้ร่างกายขาดปริมาณ “น้ำ” ในระบบหลอดเลือด รวมทั้งอาจมีการเสียเลือดที่ซึมออกมาจากตับอ่อนอีกด้วย ทำให้เป็นโรคโลหิตจางได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้รุนแรงอาจขาดน้ำถึง 6-10 ลิตร ฉะนั้นการวินิจฉัยสภาวะการขาด “น้ำ” ในร่างกายและการให้ “น้ำ” ทดแทนอย่างเพียงพอและทันต่อเหตุการณ์ (แต่ต้องไม่ให้มากเกินไปด้วย) จึงเป็นบทบาทที่สำคัญมาก ถ้าขาดน้ำมากและนานอาจทำให้ไตวายได้ ควรดูแลระดับเกลือแร่ในเลือดให้อยู่ระดับที่สมดุล แพทย์จะต้องเฝ้าดูแล ป้องกันการเกิดสภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดมากจึงต้องให้ยาแก้ปวดที่มีสมรรถภาพอย่างเพียงพอ
และเมื่อรักษาจนผู้ป่วยหายจากโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันแล้ว แพทย์จะต้องพยายามหาสาเหตุต่าง ๆ ของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันให้ได้ ถ้ามีสาเหตุ เช่น จากนิ่ว แอลกอฮอล์ ไขมันในเลือดสูง (เช่น จากระดับ triglyceride ในเลือดสูงเป็น 1,000 มิลลิกรัม% ปกติไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม%) จากระดับแคลเซียมในเลือดสูง พยาธิ ฯลฯ ถ้าพบสาเหตุต้องกำจัดเสีย เช่น ถ้ามีนิ่วต้องเอานิ่วออก มิฉะนั้นอาจจะเป็นอีก ถ้าเป็นจากแอลกอฮอล์ก็ต้องหยุดดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต แม้จะดื่มเพียงเล็กน้อยก็ไม่ได้
ฉะนั้นเมื่อทราบอย่างนี้แล้วก็ต้องป้องกันการเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันด้วยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้ามีนิ่วในถุงน้ำดีควรปรึกษาแพทย์ และควรตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่สบายดี เช่น ระดับไขมัน แคลเซียมในเลือด ฯลฯ