PCI ต่อการรอดชีวิตระยะยาวในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดอาการคงที่

PCI ต่อการรอดชีวิตระยะยาวในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดอาการคงที่

N Engl J Med 2015;373:1937-1946.

การรักษาด้วยวิธี percutaneous coronary intervention (PCI) บรรเทา angina ในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดซึ่งมีอาการคงที่แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเพิ่มการรอดชีวิต ซึ่งในระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2004 นักวิจัยได้สุ่มให้ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดอาการคงที่ 2,287 ราย ได้รับการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว (กลุ่มรักษาด้วยยา) หรือได้รับการรักษาด้วยยาร่วมกับ PCI (กลุ่ม PCI) และไม่พบผลต่างที่มีนัยสำคัญด้านอัตราการรอดชีวิตระหว่างมัธยฐานการติดตาม 4.6 ปี และในครั้งนี้ได้รายงานอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยซึ่งได้รับการติดตามถึง 15 ปี

นักวิจัยติดตามการรอดชีวิตและเสียชีวิตของอาสาสมัครซึ่งรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐอเมริกา และโรงพยาบาลนอกสังกัดจากหมายเลขประกันสังคม โดยคำนวณการรอดชีวิตด้วยวิธี Kaplan-Meier และปรับความต่างระหว่างกลุ่มด้านลักษณะเริ่มต้นด้วยตัวแบบ Cox proportional-hazards model 

มีข้อมูลการรอดชีวิตจากผู้ป่วย 1,211 ราย (53% ของกลุ่มประชากรเดิม) มัธยฐานระยะการติดตามสำหรับผู้ป่วยทั้งหมดเท่ากับ 6.2 ปี (0-15 ปี) และมัธยฐานระยะการติดตามสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่อนุญาตให้ติดตามการรอดชีวิตเท่ากับ 11.9 ปี (0-15 ปี) จากการศึกษาพบผู้ป่วยเสียชีวิต 561 ราย (180 รายระหว่างการติดตามในการศึกษาเดิม และ 381 รายระหว่างช่วงขยายการติดตาม) แบ่งเป็น 284 ราย (25%) ในกลุ่ม PCI และ 277 ราย (24%) ในกลุ่มรักษาด้วยยา (adjusted hazard ratio 1.03; 95% confidence interval 0.83-1.21; p = 0.76)

จากการติดตามเพิ่มเติมถึง 15 ปี ไม่พบความต่างด้านการรอดชีวิตระหว่างการรักษาด้วย PCI ร่วมกับการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยยาอย่างเดียวในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดที่มีอาการคงที่