Spironolactone ให้ผลดีในความดันโลหิตสูงดื้อต่อการรักษา

Spironolactone ให้ผลดีในความดันโลหิตสูงดื้อต่อการรักษา

Lancet. 2015;386(10008):2059-2068.

บทความเรื่อง Spironolactone versus Placebo, Bisoprolol, and Doxazosin to Determine the Optimal Treatment for Drug-Resistant Hypertension (PATHWAY-2): A Randomised, Double-Blind, Crossover Trial รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการรักษาด้วยยาที่เหมาะสมสำหรับความดันโลหิตสูงที่ดื้อต่อการรักษา งานวิจัยนี้ได้ทดสอบสมมติฐานว่าความดันโลหิตสูงที่ดื้อต่อการรักษามักเกิดจากการคั่งของโซเดียม ซึ่ง spironolactone อาจลดความดันโลหิตได้ดีกว่ายา non-diuretic add-on drugs 

งานวิจัยศึกษาแบบ double-blind, placebo-controlled, crossover trial โดยรวบรวมผู้ป่วยอายุ 18-79 ปีซึ่งมีความดันซิสโตลิกที่คลินิกเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอทหรือสูงกว่า (หรือ ≥ 135 มิลลิเมตรปรอท สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน) และความดันซิสโตลิกวัดที่บ้าน (วัด 18 ครั้งในระยะ 4 วัน) เท่ากับ 130 มิลลิเมตรปรอทหรือสูงกว่าแม้รักษามาแล้วอย่างน้อย 3 เดือนด้วยยา 3 ตัวซึ่งให้ที่ขนาดสูงสุด ผู้ป่วยได้รับการสุ่มเวียนการรักษาระยะ 12 สัปดาห์ด้วย spironolactone (25-50 มิลลิกรัม), bisoprolol (5-10 มิลลิกรัม), doxazosin modified release (4-8 มิลลิกรัม) และยาหลอก โดยให้วันละครั้งร่วมกับยาควบคุมความดันโลหิตที่ได้รับมาตั้งแต่เริ่มต้น ขนาดยาได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหลัง 6 สัปดาห์ในแต่ละรอบการรักษา จุดยุติปฐมภูมิแบบลำดับชั้น ได้แก่ ผลต่างของค่าเฉลี่ยความดันซิสโตลิกที่บ้านระหว่าง spironolactone และยาหลอก และ (หากมีนัยสำคัญ) ผลต่างของความดันซิสโตลิกที่บ้านระหว่าง spironolactone และค่าเฉลี่ยของยาอีก 2 ตัว และผลต่างด้านความดันซิสโตลิกวัดที่บ้านระหว่าง spironolactone และยาที่เหลือแต่ละตัว โดยวิเคราะห์แบบ intention to treat

ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2014 มีผู้ป่วยได้รับการตรวจคัดกรอง 436 ราย และได้รับการสุ่ม 335 ราย หลังคัดผู้ป่วยออก 21 รายพบว่า 285 ราย ได้รับ spironolactone, 282 ราย ได้รับ doxazosin, 285 ราย ได้รับ bisoprolol และ 274 ราย ได้รับยาหลอก โดยมีผู้ป่วย 230 ราย ได้รับการรักษาทุก cycle ความดันซิสโตลิกที่บ้านลดลงมากกว่าจากการรักษาด้วย spironolactone เทียบกับยาหลอก placebo (-8.70 มิลลิเมตรปรอท [95% CI -9.72 to -7.69]; p < 0.0001) และลดลงมากกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของยาอีก 2 ตัว (doxazosin และ bisoprolol; -4.26 [-5.13 to -3.38]; p < 0.0001) และลดลงมากกว่าเมื่อเทียบกับ doxazosin (-4.03 [-5.04 to -3.02]; p < 0.0001) และ bisoprolol (-4.48 [-5.50 to -3.46]; p < 0.0001) ยา spironolactone มีแนวโน้มเป็นยาที่สามารถลดความดันโลหิตได้ดีที่สุดประเมินจากการกระจายของค่า plasma renin เริ่มต้น โดยเห็นได้ชัดในการกระจายที่ต่ำกว่า ทั้งนี้การรักษาทั้งหมดต่างมีความปลอดภัยที่ดี โดยในผู้ป่วย 6 รายจาก 285 รายที่ได้รับ spironolactone พบระดับ serum potassium ที่สูงกว่า 6.0 มิลลิโมล/ลิตร เพียงหนึ่งครั้ง 

ยา spironolactone เป็นยาเสริมที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษาความดันโลหิตสูงที่ดื้อต่อการรักษา ซึ่งความเหนือกว่าของ spironolactone สนับสนุนว่าการคั่งของโซเดียมมีบทบาทสำคัญต่อภาวะดังกล่าว