สโตรคและเลือดออกซ้ำจากให้ยาต้านลิ่มเลือดหลังเลือดออกทางเดินอาหารใน Atrial Fibrillation
BMJ 2015;351:h5876.
บทความเรื่อง Stroke and Recurrent Haemorrhage Associated with Antithrombotic Treatment after Gastrointestinal Bleeding in Patients with Atrial Fibrillation: Nationwide Cohort Study รายงานข้อมูลจากการศึกษาความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ลิ่มเลือดอุดตัน เลือดออกรุนแรง และเลือดออกในทางเดินอาหารซ้ำจากการกลับมาให้ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอีกครั้งหลังเลือดออกในทางเดินอาหารในผู้ป่วยที่มี atrial fibrillation
การศึกษาแบบ cohort study (ค.ศ. 1996-2012) ในเดนมาร์กรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย atrial fibrillation ทั้งหมดที่ออกจากโรงพยาบาลหลังเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารระหว่างได้รับยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด การเริ่มยาอีกครั้งทำโดยให้ยาต้านลิ่มเลือดอย่างเดียว หรือให้ยาต้านลิ่มเลือดร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทานและยาต้านเกล็ดเลือด การติดตามมีขึ้นที่ 90 วันหลังออกจากโรงพยาบาลเพื่อหลีกเลี่ยงผลจากการใช้ยาที่ได้รับขณะออกจากโรงพยาบาล โดยประมาณความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ลิ่มเลือดอุดตัน เลือดออกรุนแรง และเลือดออกในทางเดินอาหารซ้ำด้วย competing risks models และ time dependent multiple Cox regression models
การศึกษารวบรวมผู้ป่วย 4,602 ราย (อายุเฉลี่ย 78 ปี) ภายใน 2 ปี พบว่า 39.9% (95% confidence interval 38.4%-41.3%, n = 1,745) ของผู้ป่วยเสียชีวิต, 12.0% (11.0%-13.0%, n = 526) เกิดลิ่มเลือดอุดตัน, 17.7% (16.5%-18.8%, n = 788) เกิดเลือดออกรุนแรง และ 12.1% (11.1%-13.1%, n = 546) เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารเป็นซ้ำ โดย 27.1% (n = 924) ของผู้ป่วยไม่ได้กลับมาได้รับยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เมื่อเทียบกับการไม่กลับมาได้รับยาพบว่า ความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุลดลงจากการกลับมาได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทาน (hazard ratio 0.39, 95% confidence interval 0.34-0.46), ยาต้านเกล็ดเลือด (0.76, 0.68-0.86) และยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทานร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด (0.41, 0.32-0.52) และความเสี่ยงต่อลิ่มเลือดอุดตันลดลงจากการกลับมาได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทาน (0.41, 0.31-0.54), ยาต้านเกล็ดเลือด (0.76, 0.61-0.95) และยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทานร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด (0.54, 0.36-0.82) โดยที่การกลับมาได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเป็นการรักษาเดียวที่ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อเลือดออกรุนแรง (1.37, 1.06-1.77) เมื่อเทียบกับการไม่กลับมาได้รับยา อย่างไรก็ดี ผลต่างด้านความเสี่ยงเลือดออกในทางเดินอาหารเป็นซ้ำไม่มีนัยสำคัญระหว่างผู้ป่วยที่กลับมาได้รับยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอีกครั้งและผู้ที่ไม่ได้กลับมาได้รับยา
ข้อมูลจากผู้ป่วย atrial fibrillation ซึ่งเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารระหว่างได้รับการรักษาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดชี้ว่า การกลับมาให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทานอีกครั้งสัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นด้านการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและการเกิดลิ่มเลือดอุดตันเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้กลับมาได้รับยา อย่างไรก็ดี พบด้วยว่าการเริ่มยาอีกครั้งสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อเลือดออกที่สูงขึ้นในระยะยาว