ยา Ivermectin ลดความชุกของโรคหิด และโรคผิวหนังอักเสบได้

ยา Ivermectin ลดความชุกของโรคหิด และโรคผิวหนังอักเสบได้

N Engl J Med 2015;373:2305-13.

         บทความเรื่อง Mass Drug Administration for Scabies Control in a Population with Endemic Disease รายงานว่า โรคหิด (scabies) ยังเป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ผู้เป็นโรคหิดมักเป็นโรคผิวหนังอักเสบ (impetigo) ร่วมด้วยจากการเกาผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคหิดซึ่งสามารถลุกลามเป็นโรคติดเชื้อที่รุนแรงได้ จึงมีการศึกษาผลของการให้ยาที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อ Sarcoptes scabiei แก่ประชากรเป็นกลุ่มในบริเวณที่พบโรคหิดได้บ่อย โดยสุ่มประชากรจำนวน 2,051 รายที่อาศัยอยู่ใน 3 หมู่เกาะของประเทศฟิจิออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประชากรกลุ่มที่ 1 ให้ยา permethrin รักษาผู้ที่เป็นโรคหิดร่วมกับให้ยานี้ในผู้ที่สัมผัสกับผู้เป็นโรคหิด ประชากรกลุ่มที่ 2 ให้ทายา permethrin 1 ครั้งบริเวณผิวหนังตั้งแต่คอถึงปลายเท้าทิ้งไว้ 8-12 ชั่วโมงในประชากรทุกราย และให้ทายาเดิมซ้ำ 7-14 วัน ต่อมาในประชากรที่พบว่าเป็นโรคหิดตั้งแต่แรก และประชากรกลุ่มที่ 3 ให้ยา ivermectin ขนาด 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม รับประทาน 1 ครั้งในประชากรทุกรายและให้ยาเดิมซ้ำ 7-14 วัน ต่อมาในประชากรที่พบว่าเป็นโรคหิดตั้งแต่แรก การวัดผลการศึกษาหลักคือ ความชุกของโรคหิดและโรคผิวหนังอักเสบที่เวลา 12 เดือน เทียบกับความชุกของโรคดังกล่าวเมื่อเริ่มการวิจัย ผลการศึกษาพบว่า ประชากรกลุ่มที่ 1 จำนวน 803 รายมีความชุกของโรคหิดลดลงจาก 36.6% เหลือ 18.8% (relative reduction [RR] 49%; 95% CI 37%-60%) และความชุกของโรคผิวหนังอักเสบลดลงจาก 21.4% เหลือ 14.6% (RR 32%; 95% CI 14%-50%) ประชากรกลุ่มที่ 2 (permethrin) จำนวน 532 รายมีความชุกของโรคหิดลดลงจาก 41.7% เหลือ 15.8% (RR 62%; 95% CI 49%-75%) และความชุกของโรคผิวหนังอักเสบลดลงจาก 24.6% เหลือ 11.4% (RR 54%; 95% CI 35%-73%) ส่วนประชากรกลุ่มที่ 3 (ivermectin) จำนวน 716 รายมีความชุกของโรคหิดลดลงจาก 32.1% เหลือ 1.9% (RR 94%; 95% CI 83%-100%) และความชุกของโรคผิวหนังอักเสบลดลงจาก 24.6% เหลือ 8% (RR 67%; 95% CI 52%-83%) ผลข้างเคียงของการใช้ยา ivermectin (15.6%) พบบ่อยกว่ายา permethrin (6.8%) ผลการศึกษานี้แสดงว่าการให้ยา ivermectin แก่ประชากรเป็นกลุ่มในบริเวณที่มีความชุกของโรคหิดมากเพียง 1 ครั้ง มีประสิทธิผลในการควบคุมโรคหิดและโรคผิวหนังอักเสบได้นานอย่างน้อย 1 ปี