เสริม Metformin ร่วมกับอินซูลินในวัยรุ่นน้ำหนักเกินป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
JAMA. 2015;314(21):2241-2250.
บทความเรื่อง Effect of Metformin Added to Insulin on Glycemic Control Among Overweight/Obese Adolescents with Type 1 Diabetes: A Randomized Clinical Trial ชี้ว่า ข้อมูลการศึกษาผลของ metformin ต่อการควบคุมน้ำตาลในวัยรุ่นที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ยังคงไม่มีข้อสรุปแน่ชัด จึงได้มีการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของ metformin โดยให้เสริมกับอินซูลินในการรักษาวัยรุ่นน้ำหนักเกินที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
งานวิจัยศึกษาแบบ multicenter, double-blind, placebo-controlled randomized clinical trial ในวัยรุ่น 140 รายซึ่งมีอายุระหว่าง 12.1-19.6 ปี (เฉลี่ย [SD] 15.3 [1.7] ปี), เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มาแล้วเฉลี่ย 7.0 (3.3) ปี, ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายเท่ากับ (BMI) 94th (4) percentile, ค่าเฉลี่ย total daily insulin เท่ากับ 1.1 (0.2) หน่วย/กิโลกรัม และค่าเฉลี่ย HbA1c เท่ากับ 8.8% (0.7%) อาสาสมัครได้รับ metformin (n = 71) (≤ 2,000 มิลลิกรัม/วัน) หรือยาหลอก (n = 69) โดยผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของ HbA1c จากเริ่มต้นถึง 26 สัปดาห์ โดยปรับสำหรับค่า HbA1c เริ่มต้น และผลลัพธ์รอง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของค่า blinded continuous glucose monitor indices, total daily insulin, BMI, รอบเอว, องค์ประกอบของร่างกาย, ความดันโลหิต และไขมัน
มีอาสาสมัครเข้าร่วมในการศึกษา 140 ราย ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 โดยมีค่า HbA1c เริ่มต้นเท่ากับ 8.8% ในทั้ง 2 กลุ่ม จากการติดตามที่ 13 สัปดาห์พบว่า ค่า HbA1c ลดลงมากกว่าในกลุ่มที่ได้รับ metformin (−0.2%) เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (0.1%; mean difference −0.3% [95% CI −0.6% to 0.0%]; p = 0.02) อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ได้คงที่ถึง 26 สัปดาห์ ซึ่งพบว่า mean change ของ HbA1c จากเริ่มต้นเท่ากับ 0.2% ในทั้ง 2 กลุ่ม (mean difference 0% [95% CI −0.3% to 0.3%]; p = 0.92) จากการติดตามที่ 26 สัปดาห์พบว่า total daily insulin ต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวลดลงอย่างน้อย 25% จากเริ่มต้นใน 23% (16 ราย) ของกลุ่มที่ได้รับ metformin เทียบกับ 1% (1 ราย) ของอาสาสมัครในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (mean difference 21% [95% CI 11%-32%]; p = 0.003) และ 24% (17 ราย) ในกลุ่มที่ได้รับ metformin และ 7% (5 ราย) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีการลดลงของ BMI z score เท่ากับ 10% หรือสูงกว่าจากเริ่มต้นถึง 26 สัปดาห์ (mean difference 17% [95% CI 5%-29%]; p = 0.01) ทั้งนี้มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่อทางเดินอาหารมากกว่าในอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับ metformin เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (mean difference 36% [95% CI 19%-51%]; p < 0.001)
ข้อมูลจากการศึกษาในวัยรุ่นที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ชี้ว่า การเสริม metformin กับอินซูลินไม่ได้เพิ่มการควบคุมน้ำตาลหลัง 6 เดือน และจากจุดยุติทุติยภูมิพบว่า metformin ส่งผลดีเฉพาะต่อขนาดของอินซูลินและการสะสมไขมัน ขณะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของทางเดินอาหาร ซึ่งข้อมูลจากการศึกษานี้ไม่สนับสนุนการจ่าย metformin แก่วัยรุ่นน้ำหนักเกินที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เพื่อที่จะช่วยเสริมการควบคุมน้ำตาล