เทียบ CPAP และ MADs ต่อความดันโลหิตในผู้ป่วยหยุดหายใจขณะหลับ
JAMA. 2015;314(21):2280-2293.
บทความเรื่อง CPAP vs Mandibular Advancement Devices and Blood Pressure in Patients with Obstructive Sleep Apnea: A Systematic Review and Meta-analysis รายงานว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่สูงขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในการศึกษานี้ได้เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างการรักษาด้วย continuous positive airway pressure (CPAP), mandibular advancement devices (MADs) และยาหลอกหรือไม่รักษา (inactive control group) กับการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตซิสโตลิกและไดแอสโตลิกในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ข้อมูลในการศึกษารวบรวมจาก MEDLINE, EMBASE และ Cochrane Library จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2015 ร่วมกับการทบทวนบรรณานุกรม งานวิจัยที่นำมาศึกษาเป็น randomized clinical trial ซึ่งเปรียบเทียบผลลัพธ์ของ CPAP หรือ MADs (เทียบระหว่าง CPAP กับ MADs หรือเทียบกับ inactive control) ต่อความดันโลหิตในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยมีงานวิจัยที่นำมาวิเคราะห์รวม 51 ฉบับ การวิเคราะห์ network meta-analysis ประมาณค่า pooled differences ระหว่างการรักษาด้วย multivariate random-effects meta-regression และประเมินความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบงานวิจัยและผลลัพธ์ของ CPAP เทียบกับ inactive control ด้วย meta-regression โดยผลลัพธ์หลัก ได้แก่ absolute change ในความดันซิสโตลิกและไดแอสโตลิกจากเริ่มต้นถึงการติดตาม
จากงานวิจัยที่นำมาวิเคราะห์ทั้ง 51 ฉบับ (ผู้ป่วย 4,888 ราย) พบว่า งานวิจัย 44 ฉบับ เปรียบเทียบ CPAP กับ inactive control, 3 ฉบับ เปรียบเทียบ MADs กับ inactive control, 1 ฉบับ เปรียบเทียบ CPAP กับ MADs และ 3 ฉบับ เปรียบเทียบ CPAP, MADs และ inactive control เมื่อเทียบกับ inactive control พบว่า CPAP สัมพันธ์กับการลดลงของความดันซิสโตลิกที่เท่ากับ 2.5 มิลลิเมตรปรอท (95% CI 1.5-3.5 mmHg; p < 0.001) และความดันไดแอสโตลิกเท่ากับ 2.0 มิลลิเมตรปรอท (95% CI 1.3-2.7 mmHg; p < 0.001) ระยะเฉลี่ยการใช้ CPAP ที่นานขึ้นคืนละ 1 ชั่วโมง สัมพันธ์กับการลดความดันซิสโตลิกที่ลดลงอีก 1.5 มิลลิเมตรปรอท (95% CI 0.8-2.3 mmHg; p < 0.001) และความดันไดแอสโตลิกที่ลดลงอีก 0.9 มิลลิเมตรปรอท (95% CI 0.3-1.4 mmHg; p = 0.001) เมื่อเทียบกับ inactive control พบว่า MADs สัมพันธ์กับการลดลงของความดันซิสโตลิกเท่ากับ 2.1 มิลลิเมตรปรอท (95% CI 0.8-3.4 mmHg; p = 0.002) และความดันไดแอสโตลิกเท่ากับ 1.9 มิลลิเมตรปรอท (95% CI 0.5-3.2 mmHg; p = 0.008) แต่จากการศึกษาไม่พบผลต่างที่มีนัยสำคัญระหว่าง CPAP และ MADs ด้านความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของความดันซิสโตลิก (−0.5 mmHg [95% CI −2.0 to 1.0 mmHg]; p = 0.55) หรือความดันไดแอสโตลิก (−0.2 mmHg [95% CI −1.6 to 1.3 mmHg]; p = 0.82)
ข้อมูลจากผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับชี้ว่า ทั้ง CPAP และ MADs ต่างสัมพันธ์กับการลดลงของความดันโลหิต แต่ผลลัพธ์จาก network meta-analysis ไม่ได้ชี้ให้เห็นผลต่างที่มีนัยสำคัญด้านผลลัพธ์ความดันโลหิตที่สัมพันธ์กับการรักษาดังกล่าว