ความสัมพันธ์อัตราผ่าคลอดและอัตราตายของแม่และเด็ก
JAMA. 2015;314(21):2263-2270.
บทความเรื่อง Relationship Between Cesarean Delivery Rate and Maternal and Neonatal Mortality อ้างถึงคำแนะนำโดยองค์การอนามัยโลกชี้ว่า อัตราการผ่าคลอดไม่ควรสูงเกิน 10-15 รายต่อการคลอดมีชีวิต 100 ราย เพื่อปรับผลลัพธ์ต่อแม่และทารกแรกเกิดให้เหมาะสม การศึกษานี้จึงได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการผ่าคลอดในระดับประเทศต่ออัตราตายของแม่และทารกแรกเกิด การศึกษามีรูปแบบเป็น cross-sectional, ecological study ประเมินอัตราการผ่าคลอดรายปีจากข้อมูลปี ค.ศ. 2005-2012 จากชาติสมาชิกองค์การอนามัยโลกทั้ง 194 ประเทศ การวิเคราะห์ข้อมูลมีขึ้นในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งมีข้อมูลอัตราการผ่าคลอดจาก 54 ประเทศ และสำหรับ 118 ประเทศซึ่งไม่มีข้อมูลในปี ค.ศ. 2012 ได้คำนวณข้อมูลการผ่าคลอดสำหรับปี ค.ศ. 2012 ด้วยข้อมูลจากปีอื่น และสำหรับ 22 ประเทศซึ่งไม่มีข้อมูลอัตราการผ่าคลอดเลยได้คำนวณอัตราการผ่าคลอดจากรายจ่ายสาธารณสุขต่อหัว อัตราการเจริญพันธ์ อายุคาดเฉลี่ย ร้อยละของประชากรในเขตเมือง และภาคภูมิศาสตร์
ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการผ่าคลอดในระดับประชากรและอัตราส่วนอัตราตายของแม่ (การตายเนื่องจากการตั้งครรภ์ระหว่างช่วงตั้งครรภ์ถึง 42 วันหลังคลอดต่อการคลอดมีชีวิต 100,000 ราย) หรืออัตราตายของทารกแรกเกิด (ทารกแรกเกิดอายุก่อน 28 วันต่อการคลอดมีชีวิต 1,000 ราย)
ตัวเลขประมาณการผ่าคลอดในปี ค.ศ. 2012 เท่ากับ 22.9 ล้านราย (95% CI 22.5-23.2 million) ในระดับประเทศพบว่า อัตราการผ่าคลอดสูงที่ถึง 19.1 รายต่อการคลอดมีชีวิต 100 ราย (95% CI 16.3-21.9) และ 19.4 รายต่อการคลอดมีชีวิต 100 ราย (95% CI 18.6-20.3) สัมพันธ์แบบกลับกับอัตราตายของแม่ (adjusted slope coefficient -10.1; 95% CI -16.8 to -3.4; p = 0.003) และอัตราตายของทารกแรกเกิด (adjusted slope coefficient -0.8; 95% CI -1.1 to -0.5; p < 0.001) (ปรับสำหรับรายจ่ายสาธารณสุขต่อหัว ประชากร ร้อยละของประชากรในเขตเมือง อัตราการเจริญพันธ์ุ และภาคภูมิศาสตร์) แต่อัตราของการผ่าคลอดที่สูงกว่าไม่สัมพันธ์กับอัตราตายในระดับประเทศของแม่และทารกแรกเกิด จากการวิเคราะห์ความไวเฉพาะ 76 ประเทศ ซึ่งข้อมูลอัตราการผ่าคลอดมีคุณภาพสูงสุดพบผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน โดยพบว่าอัตราการผ่าคลอดที่สูงกว่า 6.9-20.1 รายต่อการคลอดมีชีวิต 100 รายสัมพันธ์แบบกลับกับอัตราตายของแม่ (slope coefficient −21.3; 95% CI -32.2 to -10.5, p < 0.001) และอัตราการผ่าคลอดระหว่าง 12.6-24.0 รายต่อการคลอดมีชีวิต 100 ราย สัมพันธ์แบบกลับกับอัตราตายของทารกแรกเกิด (slope coefficient -1.4; 95% CI -2.3 to -0.4; p = 0.004)
อัตราการผ่าคลอดในระดับประเทศที่สูงราว 19 รายต่อการคลอดมีชีวิต 100 ราย สัมพันธ์กับอัตราตายที่ต่ำกว่าทั้งของแม่และทารกแรกเกิดในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก และเป็นการเสนอแนะว่าเป้าหมายอัตราการผ่าคลอดระดับประเทศซึ่งแนะนำไว้ก่อนหน้านี้อาจต่ำเกินไป
Casino siteleri