Acetaminophen สำหรับไข้ในผู้ป่วยวิกฤติสงสัยติดเชื้อ
N Engl J Med 2015;373:2215-2224.
บทความเรื่อง Acetaminophen for Fever in Critically Ill Patients with Suspected Infection รายงานว่า acetaminophen เป็นยาที่ใช้ทั่วไปสำหรับอาการไข้สำหรับผู้ป่วยในไอซียูซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อ แต่เนื่องจากผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจนจึงมีการศึกษาโดยสุ่มให้ผู้ป่วยไอซียู 700 รายซึ่งมีไข้ (อุณหภูมิร่างกาย ≥ 38 °C) และตรวจพบหรือสงสัยว่าติดเชื้อได้รับการรักษาด้วย acetaminophen ทางหลอดเลือดดำขนาด 1 กรัม หรือยาหลอกทุก 6 ชั่วโมงจนกว่าออกจากไอซียู ไข้ลด หยุดยาปฏิชีวนะ หรือเสียชีวิต ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ วัน ICU-free days (จำนวนวันที่มีชีวิตและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ) นับตั้งแต่การสุ่มจนถึงวันที่ 28
จำนวนของ ICU-free days จนถึงวันที่ 28 ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้รับ acetaminophen และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยมีจำนวนวันเท่ากับ 23 วัน (interquartile range 13-25) ในผู้ป่วยที่ได้รับ acetaminophen และ 22 วัน (interquartile range 12-25) ในผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก (Hodges-Lehmann estimate of absolute difference 0 days; 96.2% confidence interval [CI] 0-1; p = 0.07) จากการศึกษาพบผู้ป่วย 55 รายจาก 345 รายในกลุ่มที่ได้รับ acetaminophen (15.9%) และ 57 รายจาก 344 รายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (16.6%) เสียชีวิตภายใน 90 วัน (relative risk 0.96; 95% CI 0.66-1.39; p = 0.84)
ข้อมูลจากการศึกษาชี้ว่า การเริ่มให้ acetaminophen โดยเร็วเพื่อรักษาอาการไข้เนื่องจากสงสัยว่าติดเชื้อไม่มีผลต่อจำนวนวัน ICU-free days