การออกกำลังกาย และการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ
นพ.ธนาวุฑฒ์ โสภักดี โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล
ช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงที่ร่างกายต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ลดลง ช่วงฤดูหนาวพบอุบัติการณ์ของโรคทางระบบทางเดินหายใจหลายโรคสูงขึ้น เกิดการกำเริบขึ้นได้ในบางคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด ไข้หวัด การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ซึ่งหากร่างกายมีการเตรียมพร้อมที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้การเจ็บป่วยดังกล่าวเบาบางลงได้
การสร้างเสริมภูมิต้านทานแก่ร่างกายเพื่อรองรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่ง่ายและประหยัด ได้แก่ การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ ควรเน้นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกันอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เช่น วิ่ง เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ขี่จักรยานฝืด เต้นแอโรบิค เตะฟุตบอล เล่นเทนนิส แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ความไวต่อตัวกระตุ้นในคนเป็นภูมิแพ้ลดลง ทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ที่มีต่อเยื่อบุตา จมูก และหลอดลมลดลง ทำให้ความจำเป็นในการใช้ยาลดลง และทำให้มีภูมิต้านทานต่อหวัด เป็นแล้วหายง่าย ความรุนแรงและอาการของโรคลดลง
จากการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย และโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจที่รวบรวมในฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ Cochrane ที่รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994-2014 ได้รวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์จาก 9 กลุ่มงานวิจัย มีข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งที่สนับสนุนว่า การออกกำลังกายช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วยและลดความรุนแรงต่อการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ การออกกำลังกายอาจไม่ลดอุบัติการณ์การป่วยของการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเพียงพอที่แสดงว่าการออกกำลังกายลดอุบัติการณ์การติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ
กล่าวโดยสรุป ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง หากเกิดการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ พบว่าความรุนแรงของอาการและระยะเวลาการป่วยจะน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเพียงพอที่แสดงว่าการออกกำลังกายลดอุบัติการณ์การติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ