การปฏิรูประบบสาธารณสุขในสมัย คสช. (ตอนที่ 1)

การปฏิรูประบบสาธารณสุขในสมัย คสช. (ตอนที่ 1)

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา ที่ปรึกษากรรมาธิการสาธารณสุข สนช. ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

            การบริหารบ้านเมืองในยุค คสช. นับได้ว่าเป็นยุคที่ต้องการให้มีการปฏิรูปทุกด้าน คสช. ได้จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้น โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 11 ชุด โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่าง ๆ นั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม (http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=25648#topic1)

            ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เริ่มการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557 และประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นวันลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้การทำหน้าที่ของ สปช.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557

            ทั้งนี้พบว่า สปช.มีข้อเสนอการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องรวม 505 ข้อเสนอ ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า ข้อเสนอ 505 ข้อเป็น “เบี้ยหัวแตก” ปฏิบัติไม่ได้ (http://www.siamintelligence.com/ilaw-summary-national-reform-council/)

            และข้อเสนอส่วนมากยังเป็นนามธรรม แต่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน แม้แต่ข้อเสนอที่ค่อนข้างดูเป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับที่มา ลักษณะขององค์กรและอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน จึงต้องเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่รับข้อเสนอของ สปช.ไปคิดรายละเอียดต่อไป

            แม้แต่การเสนอให้ออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายก็มีแต่รายชื่อกฎหมายและประเด็นที่ควรพิจารณา แต่โดยส่วนมากยังไม่มีการยกร่างกฎหมาย

            แต่อย่างไรก็ตาม สปช.เสนอกฎหมายใหม่กว่า 100 ฉบับ และแก้ไขกฎหมายกว่า 150 ฉบับ แต่เป็นการเสนอแก้ไขและยกร่างกฎหมายต่อ สนช.ภายใต้ระบบกลไกปิดและไม่เป็นประชาธิปไตย (ไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบ) ตัวอย่างเช่น สปช.ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... แต่ทางแพทยสภาและสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ต่างก็ออกมาคัดค้าน เพราะเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเยียวยาผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างเป็นธรรม และอาจชักนำให้เกิดการฟ้องร้องมากขึ้น

            นอกจากนั้นคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สปช.พยายามจะผลักดันให้มีองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค แต่ที่ประชุม สปช.เองกลับโหวตคว่ำร่างกฎหมายนี้ โดยให้เหตุผลว่าอาจจะซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และยังอาจมีปัญหาไม่มีการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับองค์กรอิสระด้านสาธารณสุขต่าง ๆ (สสส. สปสช.ฯลฯ) ที่มีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

            และ สปช.มีแนวคิดที่ไม่เชื่อใจนักการเมือง แต่เชื่อมั่นใน “คนดี” และ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” มาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เหมือนที่เคยทำมาแล้วในองค์กรอิสระในระบบสาธารณสุข ซึ่งทำให้เกิดการรวบอำนาจในการบริหารระบบสาธารณสุขโดยกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียว คือกลุ่ม “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ซึ่งมี “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ชื่อว่า ศ.นพ.ประเวศ วะสี ที่สามารถ “สร้างภาพ” ให้สังคมเชื่อว่าเป็น “คนดี” (แต่คงต้องรอการพิสูจน์ว่าดีจริงหรือไม่จาก ศอตช.ในขณะนี้)

            ทั้งนี้คนกลุ่ม “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เคยนำเสนอรัฐบาลในยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ซึ่งถ้าไปดูรายชื่อกรรมการในทั้ง 2 ชุดดังกล่าว ก็จะพบรายชื่อกรรมการทั้ง 2 คณะนั้น มีบุคคลในกลุ่มนี้อยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งยัง “มีความสามารถ” เข้ามาเป็นกรรมการ สปช.ในยุคนี้อีกหลายคน

ทั้งนี้พบว่า สปช.ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 700 ล้านบาท แต่ยังไม่เห็นแนวทางความสำเร็จในการ “ปฏิรูปประเทศ” ตามข้อเสนอของ สปช. โดยนายเทียนฉาย กีรนันท์ ประธาน สปช.ได้กล่าวในงาน “สปช.พบประชาชน” ว่า สปช.เป็นสภาวิชาการ หากรัฐบาลมองว่าเรื่องไหนดีก็นำไปปฏิบัติ นำไปสู่แรงขับเคลื่อนจนบรรลุมรรคผล

            และ สปช.ก็ยัง “สามารถสืบทอดอำนาจ” โดยการเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิก “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย” (สปท.) อีก 62 คน ในจำนวนนี้เป็นกรรมาธิการสาธารณสุข สปช.อยู่ 4 คน ได้แก่ พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สปช.), พ.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย (รองประธานกรรมาธิการ), นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช (ที่ปรึกษากรรมาธิการ), พล.อ.อ.ขวัญชัย เอี่ยมรักษา (ที่ปรึกษากรรมาธิการ) (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/239/3.PDF)

            ทั้งนี้ สปท.ได้แต่งตั้งกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน โดยประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สปท. ได้แก่ พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ และมีกรรมาธิการอีก 21 คน โดย 3 คนเคยเป็นกรรมาธิการปฏิรูปด้านนี้มาแล้ว และมีรายชื่อของอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขคือ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปสาธารณสุขอยู่ด้วย (http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrsa2558/m111058.pdf)

ทั้งนี้พบว่าคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้มีการประชุมครั้งที่ 1 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 และเลือกตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมาธิการ โดยยังไม่มีรายงานผลการประชุมในเรื่องอื่น ๆ อีกในขณะนี้

            สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว ) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นอันสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

            1. สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

            2. สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ไม่ว่าจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม

            ฉะนั้น สปช.จึงต้องสิ้นสุดลงตามความในข้อ 2 คือ สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการประชุมวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

            และรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้บัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดของ สปช.ไว้ว่า “เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลง มิให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้อีก และให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นแทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปด้านต่าง ๆ สืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยให้คำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วนและความสัมฤทธิ์ผลของการปฏิรูปในระยะเวลาที่เหลืออยู่” (http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrcinf/nrc2557-r031058.pdf)

         ฉะนั้น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่จัดตั้งขึ้นจึงมีหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และรัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ สปท.ต้องดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะการปฏิรูปในแต่ละด้านต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ศนช.) ครม. คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาก สปท.เห็นว่ากรณีใดมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับ ก็ให้ สปท.จัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอต่อ สนช.เพื่อพิจารณาต่อไป แต่ในกรณีที่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้จัดทำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

 

การปฏิรูประบบสาธารณสุขในยุค คสช. หรือยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

            สำหรับการปฏิรูปด้านสาธารณสุขดำเนินการโดยกรรมาธิการสาธารณสุข สปช.ที่มี พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ เป็นประธาน และจะทำการขับเคลื่อนต่อโดย สปท.ที่มี พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ เป็นประธานอีกเช่นกัน ซึ่งทำให้เข้าใจว่าคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของ สปท.คงจะนำเอาข้อเสนอในการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่กรรมาธิการสาธารณสุข สปช.มาพิจารณาดำเนินการต่อไปอย่างแน่นอน ฉะนั้น เราคงต้องมาให้ความสนใจว่า กรรมาธิการสาธารณสุขของ สปช.ได้เสนอการปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างไรบ้าง

            จากการสรุปของกรรมาธิการการสาธารณสุข สปช.ได้มีการสรุปข้อเสนอการปฏิรูปทางด้านสาธารณสุขไว้ ซึ่งผู้เขียนขอสรุปโดยจากรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ได้นำเสนอต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยย่อดังนี้

            คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สปช.ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการปฏิรูปในวาระปฏิรูปที่ 22 : ระบบบริการสาธารณสุข วาระปฏิรูปที่ 23 : ระบบการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และวาระปฏิรูปที่ 24 : ระบบบริหารจัดการและการเงินการคลังด้านสุขภาพ และได้จัดทำเป็นรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข ฉบับสมบูรณ์ทั้ง 3 วาระ

            ผู้เขียนได้อ่านข้อเสนอการปฏิรูปของกรรมาธิการปฏิรูปสาธารณสุขของ สปช.แล้ว ขอแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

         1. การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ มีข้อเสนอให้เปลี่ยนการบริการจากโรงพยาบาลเป็นฐาน มาเป็นพื้นที่เป็นฐานโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยให้มีทีมบริหารจัดการเรียกว่า “คณะกรรมการสุขภาพเฉพาะพื้นที่ “District/Local Health Board” มีตัวแทนจาก 3 กลุ่มคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทีมวิชาชีพ ภาคประชาชน โดยให้มีโครงสร้างเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่เป็นทีมบริหารจัดการ

            วิพากษ์ การกำหนดเช่นนี้เป็นการทำให้ “ประชาชนเข้ามาใช้อำนาจรัฐ” โดยไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของประชาชนนั้น ๆ ว่ามีความรู้ความเข้าใจหรือความเชี่ยวชาญในด้านการแพทย์และสาธารณสุขหรือไม่ และไม่ได้เป็นผู้แทนหรือผู้ถูกเลือกจากประชาชน น่าเป็นห่วงว่าจะทำให้ระบบบริการสุขภาพมีปัญหาในการกำหนดคุณภาพมาตรฐาน และอาจเสี่ยงต่อการทุจริตประพฤติมิชอบรวมทั้งการมีผลประโยชน์ทับซ้อน เหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วใน สสส. และ สปสช. และเป็นการทำลายล้าง “อำนาจในการบริหารจัดการ” ของกระทรวงสาธารณสุขให้หมดสิ้นไป ทั้ง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในหน้าที่ แต่ต้องมาออกเสียงได้เพียง 1 เสียงเท่ากับประชาชนที่ไม่มีความรู้ด้านวิชาการแพทย์และสาธารณสุขเลย มีแต่ “ความต้องการ” ซึ่งประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้ามา “ใช้อำนาจในการบริหาร” เพราะรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องจัดการบริการให้ตรงตามความจำเป็นด้านสุขภาพ (health need) ของประชาชนอยู่แล้ว ไม่ใช่จัดบริการตาม “ความต้องการ” (Want) ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละโรค และอาจทำให้การบริการขาดคุณภาพมาตรฐานเพราะใช้งบประมาณจำกัดการรักษาพยาบาลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วจากการออกระเบียบข้อบังคับของ สปสช.

            นอกจากนั้นได้มีการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่นที่ให้ยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเดิมให้เหลือเพียงระบบเทศบาล จึงทำให้ขาดองค์ประกอบของ อปท.ตามที่กรรมาธิการปฏิรูปสาธารณสุขของ สปช.เสนอ

         ทั้งนี้ในข้อเสนอการปฏิรูปบริการสาธารณสุขของกรรมาธิการปฏิรูปสาธารณสุข สปช. ได้อ้างถึงการปฏิรูปตั้งแต่ระบบสุขภาพชุมชน (Selfcare) Primary Care Secondary Care and Tertiary Care โดยแบ่งการปฏิรูปเป็น 3 วาระ เริ่มจาก

            วาระที่ 1. การมีคณะกรรมการสุขภาพพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น เป็นการเปลี่ยนให้ประชาชนเข้ามา “ใช้อำนาจรัฐ” โดยไม่มีคุณสมบัติในการตัดสินใจในการบริหารงานดังกล่าวแล้ว

            วาระที่ 2. ทีมผู้ให้บริการแนวดิ่ง/แนวราบ เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เปลี่ยน “ศูนย์กลาง” ของ “ระบบ” และ “การให้บริการ” โดยมีองค์ประกอบสำคัญของระบบบริการคือ กำลังคน การให้บริการ ยา เครื่องมือ เทคโนโลยี ซึ่งต้องการ “ลดอำนาจ “ข้าราชการ” ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาให้ประชาชนตัดสินใจ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของ สปช.ที่คิดว่า การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง คือให้มา “ใช้อำนาจรัฐ” แต่เป็นความเข้าใจผิด เพราะความหมายของการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้หมายความว่าให้ประชาชนเข้ามาใช้อำนาจรัฐในฐานะ “นิติบุคคล” แต่สามารถให้เข้ามาแสดงความเห็น ข้อเสนอ หรือร้องเรียน และตรวจสอบเท่านั้น

            วาระที่ 3. ระบบข้อมูล/กลไกการเงินเป็นมาตรการ (เครื่องมือ) สำคัญที่ช่วยในการ “เปลี่ยน” และ “ขับเคลื่อน” และเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาควบคู่กัน

            วิพากษ์ ไม่มีรายละเอียดของปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรที่สำคัญในการให้บริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดแคลนงบประมาณ อาคารสถานที่ กำลังคนและบุคลากร

            รวมทั้งไม่มีการเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเหล่านี้แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาการขาดงบประมาณ ขาดอาคารสถานที่ เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้งไม่มีการกล่าวถึงการแก้ปัญหาบุคลากรแต่อย่างใด เพียงแต่อ้างเรื่อง “กำลังคน” เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่งบประมาณของสถานบริการสาธารณสุขก็ขาดแคลนอาคารสถานที่ เทคโนโลยี เวชภัณฑ์ เตียง เครื่องมือแพทย์ และ “กำลังคน” คือกำลังหลักในการให้บริการที่ดี มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัยแก่ประชาชน และในปัจจุบันนี้มีรายงานเสนอมาว่าระบบบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขมีความขาดแคลนทรัพยากรทั้งหมดนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งการขาดแคลนทรัพยากรต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของผู้ป่วย แต่คณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุขของ สปช.ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขภาวะการขาดแคลนทรัพยากรเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม แต่กลับไปผลักดันและยกร่างกฎหมายคุ้มครองเมื่อเกิดความเสียหายแทน

         2. การปฏิรูปการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค การจัดการภัยคุกคามสุขภาพ โดยมีวิธีการคือ

                        1. ส่งเสริมสนับสนุนบุคคล ท้องถิ่นและชุมชน ให้สามารถจัดการหรือพัฒนาสุขภาพของตนเองและชุมชน

                        2. ปรับปรุงการอภิบาลระบบสุขภาพไปสู่การอภิบาลโดยเครือข่าย (Governance by Network) ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ เพื่อร่วมกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส

                        3. สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุม พร้อมทั้งจัดการภัยคุกคามต่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นให้บุคคล ชุมชน ท้องถิ่น และสังคม มีศักยภาพในการสร้างเสริมสุขภาพได้ด้วยตนเอง ผ่านการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Participatory Healthy Public Policy Process PHPP)

            วิพากษ์ จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของกรรมาธิการสาธารณสุข สปช.ก็ทำตามแนวคิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ “อำนาจรัฐ” ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขดังที่ได้วิพากษ์มาแล้ว แต่อาจจะทำให้ไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม การที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค การจัดการภัยคุกคามสุขภาพนั้นก็คือ การให้ความร่วมมือในการเสนอความคิดเห็นและการทำหน้าที่ในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน โดยไม่ต้องเข้ามา “ใช้อำนาจรัฐในการเข้ามาเป็นกรรมการ” ที่มีฐานะเป็น “นิติบุคคล” ตามข้อเสนอ

         3. ในด้านข้อเสนอการปฏิรูประบบบริหารจัดการและการเงินการคลังด้านสุขภาพ

  • เสนอกลไกอภิบาลระบบสุขภาพแบบความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งระบบราชการ กลไกตลาด และระบบเครือข่าย
  • ประชาชนเข้าถึงระบบบริการที่จำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงินได้อย่างเสมอภาค ได้รับการปกป้องจากภาวะล้มละลายทางการเงิน รวมทั้งมีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมกับรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของตนเอง และบริการสุขภาพ
  • มีแหล่งเงินทุนสนับสนุนบริการสุขภาพอย่างเพียงพอ และยั่งยืน และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ
  • มีการลงทุนด้านบริการสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนที่ตอบสนองความจำเป็นด้านสุขภาพอย่างมีคุณภาพลดความเหลื่อมล้ำ
  • มีกำลังคนด้านสุขภาพอย่างเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีการกระจายอย่างเป็นธรรม และทำงานอย่างมีความสุข

            วิพากษ์ จะเห็นได้ว่าข้อเสนอนี้ก็อ้างความร่วมมือทุกภาคส่วนอีกเหมือนข้อเสนอทั้ง 2 เรื่องข้างต้น และอ้างว่าประชาชนต้องได้รับบริการที่จำเป็นโดยเสมอภาค ไม่เสี่ยงต่อการล้มละลาย และมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนบริการสุขภาพอย่างเพียงพอ มีการลงทุนด้านบริการสุขภาพอย่างเพียงพอ มีกำลังคนอย่างเพียงพอ แต่ก็เป็นการบรรยายแบบเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา แต่ไม่ได้นำเสนอให้เป็นรูปธรรมว่า จะทำให้เกิดเช่นนั้นได้อย่างไร (ไม่มี Road Map หรือไม่มีวิธีดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม)