พฤติกรรมกลั่นแกล้งในวัยเด็กและการบำบัดอาการทางจิตในวัยผู้ใหญ่

พฤติกรรมกลั่นแกล้งในวัยเด็กและการบำบัดอาการทางจิตในวัยผู้ใหญ่

JAMA Psychiatry. Published online December 9, 2015.

บทความเรื่อง Association of Bullying Behavior at 8 Years of Age and Use of Specialized Services for Psychiatric Disorders by 29 Years of Age รายงานว่า การกลั่นแกล้งและการตกเป็นเป้าหมายโดนแกล้งเป็นปัญหาที่พบบ่อยโดยเฉพาะในเด็กที่มีอาการทางจิตและกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในทั่วโลก ขณะที่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งหรือตกเป็นเป้าหมายการกลั่นแกล้งในเด็กกลุ่มที่ไม่มีความผิดปกติทางจิตต่อความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ทางจิตในวัยผู้ใหญ่

การศึกษานี้ได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมกลั่นแกล้งขณะอายุ 8 ปี และผลลัพธ์ทางจิตขณะอายุ 29 ปี จากอาสาสมัคร 5,034 รายในประเทศฟินแลนด์ซึ่งได้กรอกข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมกลั่นแกล้งในวัยเด็ก และได้รับการติดตามตั้งแต่อายุ 8-29 ปี การติดตามสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2009 และวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 2013 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 ข้อมูลเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง ตกเป็นเป้าการกลั่นแกล้ง และอาการทางจิตรวบรวมจากพ่อแม่ ครู และรายงานโดยอาสาสมัครขณะอายุ 8 ปี และข้อมูลการใช้บริการบำบัดรักษาความผิดปกติทางจิตนับจากอายุ 16-29 ปี รวบรวมจากทะเบียนโรงพยาบาลโดยครอบคลุมทั้งการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน

จากอาสาสมัคร 5,034 ราย พบว่า 4,540 ราย (90.2%) ไม่มีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง โดยในจำนวนนี้พบว่า 520 ราย (11.5%) ได้รับการวินิจฉัยทางจิตระหว่างการติดตาม ขณะที่ 33 รายจาก 166 ราย (19.9%) ซึ่งมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งเป็นประจำ, 58 รายจาก 251 ราย (23.1%) ซึ่งโดนแกล้งเป็นประจำ และ 24 รายจาก 77 ราย (31.2%) ซึ่งทั้งมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งและโดนแกล้งเป็นประจำได้รับการวินิจฉัยทางจิตระหว่างการติดตาม จากการวิเคราะห์ซึ่งปรับตัวแปรด้านเพศ ปัจจัยครอบครัว และอาการทางจิตเมื่ออายุ 8 ปี พบความสัมพันธ์โดยอิสระระหว่างการรักษาความผิดปกติทางจิตกับการตกเป็นเป้าการกลั่นแกล้งเป็นประจำ (hazard ratio [HR] 1.9; 95% CI 1.4-2.5) รวมถึงการแกล้งคนอื่นหรือโดนแกล้งเป็นประจำ (HR 2.1; 95% CI 1.3-3.4) จากการศึกษาพบว่า การตกเป็นเป้าการกลั่นแกล้งสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับโรคซึมเศร้า (HR 1.9; 95% CI 1.2-2.9) ขณะที่พฤติกรรมกลั่นแกล้งสัมพันธ์กับผลลัพธ์ทางจิตเฉพาะเมื่อปรากฏอาการทางจิตขณะอายุ 8 ปี และอาสาสมัครซึ่งทั้งมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งและโดนแกล้งเมื่ออายุ 8 ปีมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อความผิดปกติทางจิตหลายประเภทซึ่งจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาในวัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิตจำเพาะเจาะจงไม่มีนัยสำคัญภายหลังควบคุมปัจจัยด้านอาการทางจิต

การตกเป็นเป้าการกลั่นแกล้งแม้ไม่มีอาการทางจิตในวัยเด็กสัมพันธ์กับผลลัพธ์ทางจิตในวัยผู้ใหญ่ที่รุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ซึ่งการแก้ไขโดยเร็วในเด็กที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมกลั่นแกล้งสามารถป้องกันผลกระทบในระยะยาวได้