กิจกรรมทางกายและการดูโทรทัศน์วัยหนุ่มสาวต่อการรู้คิดในวัยกลางคน

กิจกรรมทางกายและการดูโทรทัศน์วัยหนุ่มสาวต่อการรู้คิดในวัยกลางคน

JAMA Psychiatry. Published online December 2, 2015.

บทความเรื่อง Effect of Early Adult Patterns of Physical Activity and Television Viewing on Midlife Cognitive Function ชี้ว่า พฤติกรรมนั่งนานและขาดการออกกำลังกายไม่เพียงมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก หากแต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลายประการ แต่เนื่องจากการศึกษาผลของพฤติกรรมนั่งนานต่อการรู้คิด หรือผลระยะยาวของพฤติกรรมทั้ง 2 ประการในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและวัยกลางคนยังมีน้อย จึงมีการศึกษาเพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการดูโทรทัศน์และขาดกิจกรรมทางกายในระยะ 25 ปีต่อการรู้คิดในวัยกลางคน

การศึกษาเป็น prospective study จากผู้ใหญ่ 3,247 ราย (เชื้อสายแอฟริกันและยุโรป และมีอายุระหว่าง 18-30 ปี) ซึ่งเข้าร่วมในการศึกษา Coronary Artery Risk Development in Young Adults (CARDIA) Study (วันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1985 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2011) และวิเคราะห์ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2014 ถึงวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2015 การศึกษาได้ประเมินการดูโทรทัศน์และการทำกิจกรรมทางกายจากการติดตาม (≥ 3 ครั้ง) ตลอดระยะ 25 ปีด้วยแบบสอบถาม โดยพฤติกรรมดูโทรทัศน์มากประเมินจากการดูโทรทัศน์นานกว่า upper baseline quartile (> 3 ชั่วโมง/วัน) ซึ่งพบมากกว่า 2 ใน 3 ของการติดตาม และการทำกิจกรรมทางกายน้อยในระยะ 25 ปี ประเมินจากระดับการทำกิจกรรมที่ต่ำกว่า lower, sex-specific baseline quartile ซึ่งพบมากกว่า 2 ใน 3 จากการติดตาม และได้ประเมินการรู้คิดที่ 25 ปีด้วย Digit Symbol Substitution Test (DSST), Stroop test และ Rey Auditory Verbal Learning Test

ค่าเฉลี่ย (SD) อายุเมื่อเริ่มต้นของอาสาสมัคร 3,247 ราย เท่ากับ 25.1 (3.6) ปี โดย 1,836 ราย (56.5%) เป็นผู้หญิง, 1,771 ราย (54.5%) มีเชื้อสายยุโรป และ 3,015 ราย (92.9%) สำเร็จการศึกษาอย่างน้อยระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อเทียบกับอาสาสมัครที่ดูโทรทัศน์น้อยพบว่า กลุ่มที่ดูโทรทัศน์นานระหว่าง 25 ปี (353 รายจาก 3,247 ราย [10.9%]) มักมีผลลัพธ์ด้านการรู้คิดที่ต่ำกว่า (< 1 SD ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจำเพาะตามเชื้อชาติ) จาก DSST และ Stroop test โดยมี odds ratio ที่ปรับแล้ว (95% CI) สำหรับ DSST เท่ากับ 1.64 (1.21-2.23) และสำหรับ Stroop test เท่ากับ 1.56 (1.13-2.14) แต่ไม่รวมถึง Rey Auditory Verbal Learning Test โดยปรับปัจจัยด้านอายุ เชื้อชาติ เพศ ระดับการศึกษา การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ดัชนีมวลกาย และความดันโลหิตสูง การทำกิจกรรมทางกายน้อยระหว่าง 25 ปีในอาสาสมัคร 528 รายจาก 3,247 ราย (16.3%) สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับผลลัพธ์ที่ไม่ดีจาก DSST ซึ่งเท่ากับ 1.47 (1.14-1.90) และเมื่อเทียบกับอาสาสมัครที่ดูโทรทัศน์น้อยและทำกิจกรรมทางกายมากพบว่า ค่า odds ratio สำหรับผลลัพธ์ที่ไม่ดีสูงกว่าเกือบ 2 เท่าสำหรับผู้ใหญ่ 107 รายจาก 3,247 ราย (3.3%) ซึ่งดูโทรทัศน์มากและทำกิจกรรมทางกายน้อย (DSST 1.95 [1.19-3.22] และ Stroop test 2.20 [1.36-3.56])

การดูโทรทัศน์มากและทำกิจกรรมทางกายน้อยในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นสัมพันธ์กับผลลัพธ์ด้านการบริหารจัดการและความคล่องตัวที่เสื่อมลงในวัยกลางคน ข้อมูลนี้นับเป็นหลักฐานที่สนับสนุนว่าพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวอาจเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับป้องกันความเสื่อมด้านการรู้คิดตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยกลางคน