ระดับน้ำตาลมารดาช่วงตั้งครรภ์ และความเสี่ยงหัวใจพิการแต่กำเนิด
JAMA Pediatr. 2015;169(12):1112-1116.
บทความเรื่อง Maternal Midpregnancy Glucose Levels and Risk of Congenital Heart Disease in Offspring รายงานว่า ปัจจุบันมีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรคเบาหวานของแม่และความเสี่ยงหัวใจพิการแต่กำเนิดในทารก แต่แม้การตรวจพบโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อหัวใจพิการแต่กำเนิด แต่ความผิดปกติของระดับน้ำตาลและการเผาผลาญกลูโคสที่ไม่รุนแรงก็พบบ่อยในกลุ่มประชากรทั่วไป และอาจมีผลต่อความเสี่ยงหัวใจพิการแต่กำเนิด จึงมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างหัวใจพิการแต่กำเนิด 2 ประเภทในทารกกับค่าน้ำตาลและอินซูลินในช่วงกลางของการตั้งครรภ์ตามสมมติฐานว่าการตรวจพบ analytes ในเลือดที่สัมพันธ์กับภาวะเบาหวานของมารดาอย่างต่อเนื่องมีความเชื่อมโยงกับความพิการของหัวใจ
การศึกษามีรูปแบบเป็น case-control study จากหญิงตั้งครรภ์ 277 รายในตอนใต้และตอนกลางของรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งครรภ์ทารกที่เป็น tetralogy of Fallot (TOF) (n = 55), dextrotransposition of the great arteries (dTGA) (n = 42) หรือทารกสุขภาพแข็งแรงและไม่มีหัวใจพิการแต่กำเนิด (n = 180) การเก็บตัวอย่างซีรัมมีขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 2003-2007 และวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ค.ศ. 2015 การประเมิน analytes ในเลือดที่สัมพันธ์กับการเผาผลาญน้ำตาลของมารดาวัดจากตัวอย่างเลือดในช่วง 3 เดือนกลาง รวมถึงวัดระดับอินซูลินในซีรัมด้วย validated radioimmunoassay และวัดระดับน้ำตาล พร้อมกันนี้ได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างค่าที่วัดได้กับสถานะสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างด้วยตัวแบบ multivariable logistic regression models
ค่าน้ำตาลสูงขึ้นในมารดาที่ทารกเป็น TOF (median 97.0 mg/dL) เทียบกับกลุ่มควบคุม (median 91.5 mg/dL) (p = 0.01, Wilcoxon rank sum test) ซึ่งไม่พบในมารดาที่ทารกเป็น dTGA (median 90.0 mg/dL) เทียบกับกลุ่มควบคุม (p = 0.18, Wilcoxon rank sum test) ระดับอินซูลินในซีรัมต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มควบคุม (median 18.8 μIU/mL) และกลุ่มตัวอย่างซึ่งทารกเป็น dTGA (median 13.1 μIU/mL; p = 0.048, Wilcoxon rank sum test) แต่ไม่รวมถึง TOF (median 14.3 μIU/mL; p = 0.35, Wilcoxon rank sum test) เมื่อเทียบกับค่าน้ำตาลในเลือดของมารดาในทารกที่ไม่มีหัวใจพิการพบว่า ค่าน้ำตาลในเลือดของมารดาในทารกที่เป็นหัวใจพิการแต่กำเนิดรวมถึงอินซูลินสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับแนวโน้มต่อ TOF (adjusted odds ratio = 7.54; 95% CI 2.30-24.69) แต่ไม่รวมถึง dTGA (adjusted odds ratio = 1.16; 95% CI 0.28-4.79)
ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างกลูโคสในฐานะตัวแปรค่าต่อเนื่องและแนวโน้มต่อโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางประเภท ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างระดับกลูโคสในซีรัมและแนวโน้มต่อ TOF ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงความเสี่ยงจาก insulin signaling และการเผาผลาญน้ำตาลระหว่างช่วงเริ่มตั้งครรภ์