Isosorbide Mononitrate ในหัวใจล้มเหลว
N Engl J Med 2015;373:2314-2324.
บทความเรื่อง Isosorbide Mononitrate in Heart Failure with Preserved Ejection Fraction ชี้ว่า nitrates มักนำมาใช้เพื่อเพิ่มความทนต่อกิจกรรมในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่ไม่มีการบีบตัวของหัวใจลดลง การศึกษานี้จึงได้เปรียบเทียบผลของ isosorbide mononitrate หรือยาหลอกต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันในผู้ป่วยดังกล่าว
การศึกษาแบบ multicenter, double-blind, crossover study ได้สุ่มให้ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่ไม่มีการบีบตัวของหัวใจลดลง 110 ราย ได้รับ isosorbide mononitrate แบบ dose-escalation regimen ในระยะ 6 สัปดาห์ (จาก 30 มิลลิกรัมถึง 60 มิลลิกรัม และถึง 120 มิลลิกรัมวันละครั้ง) หรือยาหลอก และเปลี่ยนการรักษาข้ามกลุ่มเป็นระยะ 6 สัปดาห์ จุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ ระดับการทำกิจกรรมประจำวันประเมินจากค่าเฉลี่ยวัดได้จากเครื่องวัดความเร่งซึ่งผู้ป่วยสวมติดตัวในช่วงการรักษาที่ได้รับยาขนาด 120 มิลลิกรัม จุดยุติทุติยภูมิ ได้แก่ จำนวนชั่วโมงการทำกิจกรรมต่อวันระหว่างช่วงที่ได้รับยาขนาด 120 มิลลิกรัม, ผลลัพธ์จากเครื่องวัดความเร่งในการรักษาทั้ง 3 ช่วง, คะแนนคุณภาพชีวิต, ระยะการเดิน 6 นาที และระดับ N-terminal pro-brain natriuretic peptide (NT-proBNP)
ในผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับ isosorbide mononitrate 120 มิลลิกรัม เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกพบว่ามีแนวโน้มที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการทำกิจกรรมประจำวันที่ลดลง (-381 accelerometer units; 95% confidence interval [CI] -780 to 17; p = 0.06) และการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนชั่วโมงการทำกิจกรรมต่อวัน (-0.30 hours; 95% CI -0.55 to -0.05; p = 0.02) จากการรักษาทั้งหมดพบว่า การทำกิจกรรมในกลุ่มที่ได้รับ isosorbide mononitrate ต่ำกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (-439 accelerometer units; 95% CI -792 to -86; p = 0.02) และระดับการทำกิจกรรมลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามขนาดที่เพิ่มขึ้นของ isosorbide mononitrate (แต่ไม่รวมถึงยาหลอก) อย่างไรก็ดี ไม่พบความต่างที่มีนัยสำคัญด้านระยะการเดิน 6 นาที, คุณภาพชีวิต และระดับ NT-proBNP
ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่ไม่มีการบีบตัวของหัวใจลดลงซึ่งได้รับ isosorbide mononitrate มีการทำกิจกรรมน้อยกว่า ขณะที่ไม่มีคุณภาพชีวิตหรือความสามารถในการออกกำลังกาย (submaximal exercise capacity) ดีกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก