สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2
Lancet Diabetes Endocrinol. Published online September 17, 2015.
บทความเรื่อง Relation of Active, Passive, and Quitting Smoking with Incident Type 2 Diabetes: A Systematic Review and Meta-Analysis รายงานว่า การสูบบุหรี่ยังคงเป็นสาเหตุหลักที่หลีกเลี่ยงได้ของภาระโรคในทั่วโลก โดยมีข้อมูลชี้ว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ (สูบบุหรี่ ได้รับควันบุหรี่มือสอง และหยุดสูบบุหรี่) มีความเชื่อมโยงต่อความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การศึกษา meta-analysis จากข้อมูลการศึกษาแบบ prospective study นี้จึงได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการสูบบุหรี่และความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
ข้อมูลการศึกษา prospective study รวบรวมจาก MEDLINE (จนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2015) และ Embase (จนถึงวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2014) โดยใช้คำสืบค้นที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน และการศึกษาแบบ prospective ร่วมกับการสืบค้นรายนามบรรณานุกรมของการศึกษาที่ตีพิมพ์และการศึกษาทบทวนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงรวบรวมการศึกษาแบบ prospective ซึ่งรายงานความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามสถานการณ์การสูบบุหรี่และคำนวณ relative risks (RRs) รวมด้วย 95% CIs โดยใช้ตัวแบบ random-effects model ตลอดจนวิเคราะห์กลุ่มย่อยตามลักษณะของอาสาสมัครและการศึกษา
มีข้อมูลการศึกษาแบบ prospective study รวม 88 ฉบับ ครอบคลุมอาสาสมัคร 5,898,795 ราย โดยมีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รวม 295,446 ราย ค่า RR รวมของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เท่ากับ 1.37 (95% CI 1.33-1.42) สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างการสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ (84 ฉบับ รวมอาสาสมัคร 5,853,952 ราย), 1.14 (1.10-1.18) สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างเคยสูบบุหรี่และไม่เคยสูบบุหรี่ (47 ฉบับ รวมอาสาสมัคร 2,930,391 ราย) และ 1.22 (1.10-1.35) สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ซึ่งได้รับควันบุหรี่มือสองและไม่ได้รับควันบุหรี่มือสอง (7 ฉบับ รวมอาสาสมัคร 156,439 ราย) โดยมีความสัมพันธ์คงที่ในทุกกลุ่มย่อย นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์แบบ dose response สำหรับการสูบบุหรี่และความเสี่ยงโรคเบาหวานโดย RRs เทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เท่ากับ 1.21 (1.10-1.33) สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่เป็นครั้งคราว, 1.34 (1.27-1.41) สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ปานกลาง และ 1.57 (1.47-1.66) สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จากการอนุมานว่าความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่และความเสี่ยงโรคเบาหวานเป็นความสัมพันธ์เชิงสาเหตุจึงได้ประมาณว่า 11.7% ของเคสโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ชาย และ 2.4% ในผู้ป่วย (หรือประมาณ 27.8 ล้านเคสทั่วโลก) มีสาเหตุจากการเป็นนักสูบ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่พบว่า ค่า RR รวมจากการศึกษา 10 ฉบับในอาสาสมัคร 1,086,608 ราย เท่ากับ 1.54 (95% CI 1.36-1.74) สำหรับผู้ที่เพิ่งเลิกสูบ (< 5 ปี), 1.18 (1.07-1.29) สำหรับผู้ที่เลิกสูบระยะกลาง (5-9 ปี) และ 1.11 (1.02-1.20) สำหรับผู้ที่เลิกสูบระยะยาว (≥ 10 ปี)
การสูบบุหรี่และได้รับควันบุหรี่มือสองสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความเสี่ยงโรคเบาหวานสูงขึ้นในผู้ที่เพิ่งเลิกสูบแต่ลดลงอย่างชัดเจนตามระยะเวลานับตั้งแต่เลิกสูบ ซึ่งหากความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่และความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นความสัมพันธ์เชิงสาเหตุก็จะส่งผลให้มาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อลดการสูบบุหรี่มีบทบาทสำคัญต่อภาระโรคของโรคเบาหวานชนิดที่ 2