เทียบอาหารไขมันต่ำและอาหารปกติ ต่อการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวระยะยาวในผู้ใหญ่
Lancet Diabetes Endocrinol. Published online October 29, 2015.
บทความเรื่อง Effect of Low-Fat Diet Interventions versus Other Diet Interventions on Long-Term Weight Change in Adults: A Systematic Review and Meta-Analysis ชี้ว่า ประสิทธิภาพของอาหารไขมันต่อการลดน้ำหนักระยะยาวเป็นที่ถกเถียงกันมาหลายสิบปี โดยข้อมูลการศึกษา randomised controlled trial และการศึกษาทบทวนก็ยังคงขัดแย้งกัน ในการศึกษานี้ได้สรุปหลักฐานจากการศึกษา randomised controlled trial เพื่อประเมินว่าการรับประทานอาหารไขมันต่ำช่วยให้ลดน้ำหนักได้มากกว่าอาหารทั่วไป อาหารสูตรคาร์โบไฮเดรตต่ำ และอาหารที่สูตรไขมันสูงกว่าหรือไม่
การศึกษามีรูปแบบเป็น systematic review และ random effects meta-analysis จากการศึกษา randomised controlled trial ซึ่งเปรียบเทียบผลลัพธ์ระยะยาว (≥ 1 ปี) ของอาหารสูตรไขมันต่ำและไขมันสูงต่อการลดน้ำหนัก โดยสืบค้นการศึกษาที่เกี่ยวข้องจาก MEDLINE, Embase, Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) และ Cochrane Database of Systematic Reviews นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2014 ทั้งนี้ไม่รวมการศึกษาซึ่งกลุ่มทดลองหนึ่งได้ลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากอาหารขณะที่กลุ่มอื่นไม่ได้รับ และการศึกษาซึ่งศึกษาผลของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือเครื่องดื่มทดแทนอาหาร ข้อมูลที่ศึกษาครอบคลุมผลลัพธ์หลักด้าน mean difference ของการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักระหว่างอาหารแต่ละสูตร รวมถึงการปรับอาหารนั้นมีเป้าหมายเพื่อลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนัก หรือไม่ได้มีเป้าหมายดังกล่าว โดยได้ประมาณค่า weighted mean difference (WMD) รวมด้วยวิธี DerSimonian and Laird random effects method
มีการศึกษาที่สอดคล้องตามเกณฑ์ 53 ฉบับ รวมอาสาสมัคร 68,128 ราย (69 comparisons) จากการศึกษาการลดน้ำหนักพบว่า อาหารสูตรคาร์โบไฮเดรตต่ำช่วยให้ลดน้ำหนักได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอาหารสูตรไขมันต่ำ (18 comparisons; WMD 1.15 kg [95% CI 0.52-1.79]; I2 = 10%) ขณะที่อาหารสูตรไขมันต่ำไม่มีความต่างด้านการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวเมื่อเทียบกับอาหารลดน้ำหนักสูตรไขมันสูงกว่า (19 comparisons; WMD 0.36 kg [-0.66 to 1.37]; I2 = 82%) และช่วยลดน้ำหนักเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารปกติ (eight comparisons; -5.41 kg [-7.29 to -3.54]; I2 = 68%) ด้านผลลัพธ์จากการศึกษาที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อลดน้ำหนักและจากการศึกษาควบคุมน้ำหนักซึ่งไม่ได้เปรียบเทียบกับอาหารสูตรคาร์โบไฮเดรตต่ำพบว่า อาหารสูตรไขมันต่ำเทียบกับอาหารสูตรไขมันสูงกว่ามีผลลัพธ์ใกล้เคียงกันต่อการลดน้ำหนัก และอาหารสูตรไขมันต่ำลดน้ำหนักได้มากกว่าเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารปกติ อีกด้านหนึ่งจากการศึกษาการลดน้ำหนักพบว่า อาหารลดน้ำหนักสูตรไขมันสูงกว่าช่วยให้ลดน้ำหนักได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอาหารสูตรไขมันต่ำเมื่อแคลอรีที่ได้จากไขมันแตกต่างกันมากกว่า 5% ระหว่างการติดตาม (18 comparisons; WMD 1.04 kg [95% CI 0.06-2.03]; I2 = 78%) และเมื่อ serum triglycerides ของอาหารทั้ง 2 สูตรมีผลต่างอย่างน้อย 0.06 มิลลิโมล/ลิตร (17 comparisons; 1.38 kg [0.50-2.25]; I2 = 62%) ระหว่างการติดตาม
ข้อมูลนี้เสนอว่า ผลระยะยาวต่อน้ำหนักตัวของอาหารสูตรไขมันต่ำขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสูตรอาหาร ซึ่งเมื่อเทียบกับสูตรอาหารที่มีความเข้มข้นใกล้เคียงกัน ผลลัพธ์จากการศึกษาไม่สนับสนุนให้ใช้อาหารไขมันต่ำแทนอาหารสูตรอื่นสำหรับการลดน้ำหนักในระยะยาว