สธ.เผยไทยลดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกเกือบเป็นศูนย์ เตรียมขอรับรองจากองค์การอนามัยโลก
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้สถานบริการสาธารณสุขดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โดยผสมผสานเข้ากับระบบบริการอนามัยแม่และเด็กของโรงพยาบาล เริ่มตั้งแต่ให้บริการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมผสมสำหรับทารกที่คลอดจากแม่ติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และเริ่มมีการให้ยาต้านไวรัสสูตร Zidovudine (AZT) ในแม่และทารกเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และมีการปรับเปลี่ยนสูตรยาต้านไวรัสเรื่อยมา จนกระทั่งได้แนะนำให้ยา Highly Active Antiretroviral Therapy (HAART) โดยเร็วที่สุดและต่อเนื่องหลังคลอด เพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกเป็นการดำเนินการตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับหลายประเทศ ซึ่งจากผลการดําเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2553-2554 ความครอบคลุมในการให้บริการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกอยู่ในระดับสูง คือหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 94.1 และเด็กที่เกิดจากแม่ติดเชื้อร้อยละ 99 ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อลดการติดเชื้อในทารกแรกเกิด ทําให้มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในทารกแรกเกิดร้อยละ 1.80-2.01 ซึ่งการให้บริการการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกมีกระบวนการดำเนินงานที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของทั้งระดับสากลและผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ผลลัพธ์การดำเนินงานสามารถควบคุมการติดเชื้อในทารกแรกเกิดได้ โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิส แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีความพร้อมที่จะเข้าสู่การรับรองจากองค์การอนามัยโลกในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก