การรักษาคีลอยด์ที่ใบหู
นพ.ธนาวุฑฒ์ โสภักดี โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล
คีลอยด์ (keloid) เป็นความผิดปกติของผิวหนังที่มีลักษณะนูน หนา แข็ง ไม่ทราบสาเหตุการเกิดชัดเจน มักเกิดตามหลังการเกิดบาดแผล เช่น แผลมีดบาด แผลผ่าตัด แผลที่เจาะหู คีลอยด์พบมากในคนเอเชียและคนผิวดำ พบบ่อยในคนที่ปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษมาก่อน หลายรายพบแผลเป็นนูนหนาบริเวณหัวไหล่ บางรายไปเจาะหูมาก็สามารถพบแผลเป็นชนิดนี้ได้ โดยพบเป็นตุ่มนูนแข็งบริเวณรอยเจาะหู โดยส่วนใหญ่นิยมเจาะหูที่ติ่งหู ในวัยรุ่นสมัยใหม่นิยมเจาะหูหลายตำแหน่งของใบหู บางตำแหน่งเจาะผ่านกระดูกอ่อนของใบหู ก้อนคีลอยด์ที่ใบหูอาจมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วเขียวจนถึงขนาดใหญ่ 2-3 เซนติเมตร
การรักษาคีลอยด์ที่ใบหู พบว่าการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าไปในบริเวณแผลเป็นนูนหนาเหล่านั้น โดยช่วงแรกคีลอยด์จะอ่อนนุ่มลง ช่วงแรกฉีดทุก 1-2 สัปดาห์ จนนิ่มและมีขนาดลดลงก็จะฉีดห่างออกไปเป็นเดือนละครั้ง หรือ 2-3 เดือนต่อครั้ง นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยการฉีดสารต้านมะเร็ง ได้แก่ 5-Fluorouracil ฉีดทุกสัปดาห์เป็นเวลา 12 สัปดาห์ จะช่วยลดการนูนหนาของคีลอยด์ที่ใบหูได้ แพทย์บางท่านอาจใช้วิธีการผ่าตัดร่วมกับการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือ 5-Fluorouracil เข้าไปในแผล หรืออาจใช้ความเย็นจี้บริเวณที่เป็น บางรายอาจใช้แสงเลเซอร์หรือการปิดแผ่นซิลิกาเจลร่วมในการรักษาด้วย การเลือกวิธีการรักษาขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
จากการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่าการรักษาคีลอยด์ที่ใบหูจากการรักษาด้วยการใช้ยาร่วมกันระหว่างการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ ได้แก่ Triamcinolone และสารต้านมะเร็ง ได้แก่ 5-Fluorouracil ให้ผลการรักษาดีกว่าการใช้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว กรณีที่คีลอยด์มีขนาดใหญ่ควรพิจารณาผ่าตัดและใช้ยาดังกล่าวร่วมด้วย
กล่าวโดยสรุป การรักษาคีลอยด์ที่ใบหูในกรณีที่คีลอยด์มีขนาดเล็ก การใช้ Triamcinolone ร่วมกับ 5-Fluorouracil พบว่าได้ผลดี ในกรณีที่คีลอยด์มีขนาดใหญ่ควรผ่าตัดร่วมกับใช้ยาดังกล่าวร่วมด้วย ทั้งนี้การเลือกชนิดและวิธีการรักษาเป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา