สนช.ห่วงภาวะอ้วนลงพุง ต้นเหตุโรคเรื้อรัง เปิดเวทีระดมแนวทางแก้ปัญหา
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการสัมมนา “แนวทางการบูรณาการงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรคอ้วนลงพุงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในเขตชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน” ณ อาคารรัฐสภา
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาพของประชาชนคนไทย พบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองมีแนวโน้มต่อภาวะโรคอ้วนลงพุงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ และควรหาแนวทางป้องกันเพื่อสร้างสุขภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา โดยมีแนวทางการดำเนินงานตามองค์การอนามัยโลกคือ ลดตายก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs 25% การบริการคัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยงให้ได้ 90% ของพื้นที่ เมื่อพบว่าป่วยแล้ว ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยได้รับยาและเทคโนโลยีที่จำเป็นครอบคลุม 80% ส่วนแนวทางการป้องกันคือ ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดการบริโภคยาสูบ ลดการบริโภคเกลือ/โซเดียม เน้นการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เป็นต้น
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า การสร้างองค์ความรู้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการทำงาน เมื่อทุกหน่วยงานมีการนำนโยบาย หรือมาตรการ หรือการกำหนดแนวทางไปดำเนินงานต่าง ๆ ก็ควรมีการศึกษาวิจัยไปพร้อมกับการปฏิบัติงานด้วย เพื่อจะได้มอนิเตอร์ว่าจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วมีผลลัพธ์ออกมาเป็นเช่นไร มีจุดปรับปรุงหรือเสนอแนะตรงไหน เพื่อการเดินหน้าการทำงานกันต่อไปได้ถูกทิศทาง
โดยนักวิจัยจาก สวรส. และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ชี้ว่า รัฐบาลควรส่งเสริมและรณรงค์ในการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ กทม. ในการป้องกันโรค พร้อมให้หน่วยงานคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หรือหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทำการประเมินติดตามเกี่ยวกับปัจจัยของภาวะอ้วนลงพุงของบุคลากรของโรงพยาบาล สาธารณสุข และประชาชนในพื้นที่ระดับชุมชน เป็นต้น
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีมาตรการสำคัญเพื่อส่งเสริมให้คนไทยไร้พุง โดยการสร้างเสริมสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เช่น องค์กรต้นแบบไร้พุง หรือ รพ.สต.ด้านอาหารและโภชนาการ การจัดการแวดล้อมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง/เอื้อต่อสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และกฎหมาย/กฎระเบียบ เช่น ระบบเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ หรือเมนูไร้พุง/เมนูชูสุขภาพ การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ เช่น คลินิกไร้พุงคุณภาพ หรือคลินิก NCD คุณภาพ เป็นต้น และการสื่อสารและการสร้างกระแสด้านโภชนาการ เช่น การรณรงค์ หรือการเยี่ยมบ้านอีกด้วย
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า การดำเนินงานของ กทม. แบ่งเป็น 3 ด้าน 1. ด้านอาหาร มีมาตรการป้องกันโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการในโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 2. ด้านการออกกำลังกาย กรุงเทพมหานครมีศูนย์เยาวชน 38 แห่ง ศูนย์กีฬา 12 แห่ง และสวนสาธารณะ 34 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนสำหรับใช้ออกกำลังกาย 3. ด้านอารมณ์ มีการจัดกิจกรรมอบรมฝึกคลายเครียดโดยวิธีหัวเราะบำบัด
ผศ.ดร.เฉลิม ชัยวัชราภรณ์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอแนวทางการออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วนลงพุงและโรคไม่ติดต่อว่า อันดับแรกคือ ต้องมีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องมีผู้ที่เข้าใจถึงวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้องเป็นผู้ให้คำอธิบาย ซึ่งหลักของการออกกำลังกายที่ถูกต้องเพื่อลดน้ำหนักคือ 1. เหนื่อยให้พอดี 2. เหนื่อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 3. เหนื่อยต่อเนื่อง 30 นาที โดยอาจหากิจกรรมที่เหมาะสมซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงกระแทกน้อย เช่น การเดิน หรือว่ายน้ำ หรือใช้อุปกรณ์ออกกำลังกาย อาทิ ม้าโยก หรือจักรยาน
ทั้งนี้ สนช.จะได้รวบรวมประเด็นสำคัญที่ได้รับจากการสัมมนามาจัดทำเป็นรายงานนำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาล เพื่อดำเนินการต่อไป