ดร.นพ.เกริกวิชช์ ศิลปวิทยาทร เมธีวิจัย สกว. อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แนะโรคหัวใจสลาย เป็นแล้วอาจถึงตาย
“วันวาเลนไทน์” ที่ผ่านไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เชื่อว่าเป็นอีกวันหนึ่งที่หลายคนคงตั้งหน้าตั้งตาคอยให้มาถึง เพราะเป็นวันแห่งความรัก เป็นวันที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนมีความสุข เพราะมีโอกาสได้บอกรักใครบางคน หรืออาจจะมีใครบางคนมาบอกรัก สำหรับคนที่สมหวังในรักคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่คนที่ไม่สมหวังในรัก หรือที่ถูกเรียกว่า “คนอกหัก” บางคนอาจจำเป็นต้องมาพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากเวลาอกหัก โดนบอกเลิก หรือได้รับการแจ้งข่าวร้ายที่ทำให้เสียใจมาก ๆ ทันทีทันใด เช่น ป่วยเป็นมะเร็ง หรือคนในครอบครัวเสียชีวิตกะทันหัน อาจมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก หรือหายใจไม่ออก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหัวใจของเราไม่ได้เป็นอะไร แต่เชื่อว่าคนที่ชอบอ่านนิยายคงต้องเคยอ่านเจอเรื่องราวที่ตัวละครไม่สมหวังในความรัก หรือต้องพลัดพรากจากคนรักจนถึงขั้นขาดใจตายกันมาบ้างแล้ว ทำให้หลายคนเกิดความสงสัย และคงเคยตั้งคำถามในใจว่า “หัวใจสลาย” มีอยู่จริงหรือ และมันรุนแรงมากจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้จริงหรือไม่
ดร.นพ.เกริกวิชช์ ศิลปวิทยาทร เมธีวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งเคยคว้ารางวัลรองชนะเลิศในการแข่งขันชิงรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาสรีรวิทยา พยาธิวิทยา และเภสัชวิทยา ประจำปี พ.ศ. 2557 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงภาวะหัวใจสลายว่า ในทางการแพทย์มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ อาทิ กลุ่มอาการหัวใจสลายหรือกลุ่มอาการอกหัก (Broken Heart Syndrome), โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมที่ถูกเหนี่ยวนำจากภาวะเครียด (Stress Induced Cardiomyopathy), กลุ่มอาการที่หัวใจห้องล่างส่วนปลายโป่งพอง (Apical Ballooning Syndrome) หรือในญี่ปุ่นจะใช้ชื่อว่า “Takotsubo Cardiomyopathy” ซึ่งเป็นกลุ่มโรคหัวใจอีกชนิดหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจที่พบได้ทั่วโลก โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมา หรือหายใจไม่ออกภายหลังจากการเผชิญกับภาวะที่บีบคั้นทางอารมณ์อย่างรุนแรง
อาการดังกล่าวเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลง ซึ่งสาเหตุหรือกลไกที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติไปยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (Stress hormone) ถูกหลั่งออกมาในระดับที่สูงมากทันทีทันใด ซึ่งจะไปมีผลต่อหลอดเลือดหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลงหรือนิ่งไป โรคนี้ถูกนิยามเป็นครั้งแรกโดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1990 โดยเรียกภาวะนี้ว่า “Takotsubo Cardiomyopathy” เนื่องจากว่าเมื่อฉีดสีเข้าไปในห้องหัวใจโดยตรง และบันทึกภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจด้วยเอกซเรย์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะเห็นหัวใจโป่งพองเป็นกระเปาะเหมือนไหที่ประมงชาวญี่ปุ่นใช้ใส่ปลาหมึก (“Tako” แปลว่า ปลาหมึก, “Tsubo” แปลว่า ไห)
โรคหัวใจสลายนี้พบได้ทั่วโลก และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะสตรีที่หมดประจำเดือน ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทนต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด หรือ Stress hormone ได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีประวัติโรคหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการคล้ายกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือเจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หน้ามืด นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจพบความผิดปกติของผลเลือดเหมือนที่ตรวจพบในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วยการฉีดสีเพื่อตรวจดูหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งในผู้ป่วยโรคหัวใจสลายนี้มักตรวจไม่พบว่ามีร่องรอยของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
ดร.นพ.เกริกวิชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วยบีบตัวได้น้อยลง ซึ่งผู้ป่วยบางรายพบว่าหัวใจสามารถบีบตัวได้เพียงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับหัวใจของคนปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยภาวะหัวใจสลายจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบประคับประคอง และติดตามเฝ้าระวังภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างน้อย 24 ชั่วโมงในโรงพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1-8 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจรุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการดังกล่าวจึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายว่ามีความผิดปกติของการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วยหรือไม่
สำหรับผลงานสำคัญ ที่ผ่านมา ดร.นพ.เกริกวิชช์ เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการแข่งขันชิงรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาสรีรวิทยา พยาธิวิทยา และเภสัชวิทยา ประจำปี พ.ศ. 2557 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่คัดเลือกผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดจากทั่วโลกให้เหลือเพียง 5 เรื่อง เพื่อเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมฯ โดยมีคู่แข่งจากโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อาทิ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 63 ปีที่มีผลงานที่ทำในประเทศไทยตลอดทั้งโครงการถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอในเวทีแห่งนี้ โดยผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลในครั้งนั้น ดร.นพ.เกริกวิชช์ ได้พัฒนาวิธีการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบใหม่ โดยอาศัยวิธีการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสซึ่งเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 บริเวณลำคอ เพื่อลดปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายในกรณีที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ทั้งนี้ข้อมูลจากสถาบันโรคทรวงอกพบว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจต้องนอนโรงพยาบาลเฉลี่ยวันละ 1,185 ราย โดยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดประมาณ 470 รายต่อวัน เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกาพบว่า มีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี แสดงให้เห็นว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่พบได้ทั่วโลก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาโรงพยาบาลด้วยอาการแน่นบริเวณหน้าอกอย่างรุนแรง เหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปบริเวณกราม แขนซ้ายหรือบริเวณสะบักหลัง ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่คล้ายกับอาการที่พบในผู้ป่วยโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน
สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดจากการตีบหรืออุดตันอย่างเฉียบพลันของหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งวิธีการรักษาในปัจจุบันสามารถทำได้โดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น เพื่อรักษาการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจและป้องกันการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ อย่างไรก็ตาม การที่ปล่อยให้เลือดไหลกลับเข้าไปเลี้ยงในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจที่มีการขาดเลือดอยู่นั้นอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อหัวใจได้โดยตรง และทำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจตามมาได้ ซึ่งเรียกว่า “ภาวะบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดจากการที่ปล่อยเลือดกลับไปเลี้ยงใหม่” ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่สามารถป้องกันภาวะนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้
ทั้งนี้ทีมผู้วิจัยพบว่า การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสบริเวณลำคอสามารถลดปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ถึงร้อยละ 59 ในหัวใจของสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นถ้าปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายมีขนาดใหญ่ และหากรอดชีวิตมาได้ก็มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา ซึ่งถือเป็นโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมาก ดังนั้น ถ้าแพทย์สามารถลดปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายลงได้ก็จะสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เทคนิคการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสบริเวณลำคอนี้ ปัจจุบันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาและโรคซึมเศร้า เป็นต้น ในส่วนของโรคหัวใจได้มีการเริ่มนำเอาเทคนิคนี้มาทดลองใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการนำเอาเทคนิคนี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผลงานวิจัยขั้นต้นของทีมวิจัยจึงแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำเทคนิคการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสนี้มาใช้ในผู้ป่วยภาวะดังกล่าว โดยผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารฮาร์ทริธึม ซึ่งเป็นวารสารวิชาการอันดับหนึ่งในสาขาโรคทางสรีรวิทยาไฟฟ้าของหัวใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว