การรักษาอาการชักต่อเนื่องและอาการชักที่ไม่ตอบสนองต่อยา

การรักษาอาการชักต่อเนื่องและอาการชักที่ไม่ตอบสนองต่อยา 
(Status epilepticus and refractory status epilepticus)

อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

            อาการชักต่อเนื่อง (status epilepticus: SE) เป็นภาวะฉุกเฉินทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญมาก เนื่องจากมีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสมองและเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและเหมาะสม อาการชักต่อเนื่องเป็นกลุ่มของอาการที่มีลักษณะต่าง ๆ กันหลายรูปแบบ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นชนิดต่าง ๆ ได้แก่ อาการชักต่อเนื่องทั้งตัว (generalized convulsive SE: GCSE) อาการชักต่อเนื่องเฉพาะจุด (focal motor SE) อาการชักต่อเนื่องแต่ไม่ปรากฏอาการ (non-convulsive SE: NCSE) และอาการชักต่อเนื่องที่ไม่ตอบสนองต่อยา (refractory SE) เป็นต้น สำหรับวิธีการรักษาอาการชักต่อเนื่องนั้น ก็มีความแตกต่างกันไปเช่นเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับชนิดของอาการชักที่เกิดขึ้น อายุของผู้ป่วย และสาเหตุของอาการชัก

คำจำกัดความและระบาดวิทยาของอาการชักต่อเนื่อง

            โดยทั่วไปแล้วคำจำกัดความของอาการชักต่อเนื่องที่มีการยอมรับกันแพร่หลายคือ อาการชักที่ปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 30 นาที หรืออาการชักที่เกิดเป็นซ้ำ โดยระหว่างการชักในแต่ละครั้งนั้นอาการไม่กลับมาเป็นปกติ ตามคำจำกัดความนี้ จากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาพบอุบัติการณ์ของอาการชักต่อเนื่องอยู่ระหว่าง 10-41 รายต่อประชากร 100,000 รายต่อปี หรือโดยประมาณจะมีผู้ป่วยรายใหม่ราว 125,000-195,000 รายต่อปี อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงอุบัติการณ์ของโรคอาจมากกว่านี้ เนื่องจากในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการชักแบบ NCSE อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยเนื่องจากต้องอาศัยการตรวจคลื่นสมอง

            อัตราการเสียชีวิตจากอาการชักต่อเนื่องนั้นอยู่ที่ประมาณ 20% โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชักด้วย อาการชักต่อเนื่องที่มีสาเหตุมาจากโรคที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อ ภาวะสมองขาดออกซิเจน ฯลฯ จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า สาเหตุที่เกิดอย่างช้า ๆ หรือเรื้อรัง เช่น การขาดยา การดื่มแอลกอฮอล์ หรือเนื้องอกในสมอง เป็นต้น

            สำหรับคำจำกัดความของอาการชักต่อเนื่องชนิดต่าง ๆ มีดังตาราง

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่