วิตามินดีขนาดสูงสำหรับป้องกันความเสื่อมด้านหน้าที่
JAMA Intern Med. Published online January 4, 2016.
บทความเรื่อง Monthly High-Dose Vitamin D Treatment for the Prevention of Functional Decline: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า ภาวะพร่องวิตามินดีสัมพันธ์กับสมรรถภาพทางกายที่เสื่อมลง โดยการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของวิตามินดีขนาดสูงต่อการลดความเสี่ยงการเสื่อมถอยด้านการทำหน้าที่
การศึกษามีรูปแบบเป็นการศึกษาแบบสุ่มปกปิด 2 ทางเทียบกับยาหลอก โดยมีขึ้นที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระยะการตรวจคัดกรองอยู่ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 และนัดครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 การวิเคราะห์มีขึ้นในช่วงวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2012 ถึงวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2015 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ชายและผู้หญิงอายุ 70 ปีหรือมากกว่าซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนและมีประวัติการหกล้ม
การศึกษาได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมซึ่งได้รับวิตามินดี 3 ขนาด 24,000 IU (กลุ่ม 24,000 IU), กลุ่มที่ได้รับวิตามินดี 3 ขนาด 60,000 IU (กลุ่ม 60,000 IU) และกลุ่มที่ได้รับวิตามินดี 3 ขนาด 24,000 IU ร่วมกับ calcifediol 300 ไมโครกรัม (กลุ่ม 24,000 IU ร่วมกับ calcifediol)
จุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ การฟื้นฟูด้านหน้าที่ของรยางค์ส่วนล่าง (ประเมินจาก Short Physical Performance Battery) และระดับของ 25-hydroxyvitamin D ที่อย่างน้อย 30 นาโนกรัม/มิลลิลิตรที่ 6 และ 12 เดือน จุดยุติทุติยภูมิ ได้แก่ รายงานการหกล้มในแต่ละเดือน ทั้งนี้การวิเคราะห์ได้ปรับตามอายุ เพศ และดัชนีมวลกาย
กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยอาสาสมัคร 200 คน (ชายและหญิงอายุ ≥ 70 ปี และมีประวัติหกล้ม) อายุเฉลี่ยเท่ากับ 78 ปี โดย 67.0% (134 รายจาก 200 ราย) เป็นผู้หญิง และ 58.0% (116 รายจาก 200 ราย) มีภาวะพร่องวิตามินดี (< 20 นาโนกรัม/มิลลิลิตร) ที่เริ่มต้นการศึกษา ผลจากการวิเคราะห์แบบ Intent-to-treat analyses ชี้ว่า แม้การรักษาด้วยวิตามินดีขนาด 60,000 IU และ 24,000 IU ร่วมกับ calcifediol มีแนวโน้มที่จะทำให้ 25-hydroxyvitamin D ถึงระดับอย่างน้อย 30 นาโนกรัม/มิลลิลิตร (p = 0.001) มากกว่าขนาด 24,000 แต่ก็ไม่ได้มีผลดีกว่าในแง่การฟื้นฟูการทำงานของรยางค์ส่วนล่างตามที่พบว่าไม่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม (p = 0.26) อย่างไรก็ดี จากการติดตามเป็นระยะ 12 เดือนพบว่า อุบัติการณ์ของการหกล้มต่างกันอย่างมีนัยสำคัญโดยพบอุบัติการณ์ที่สูงกว่าในกลุ่ม 60,000 IU group (66.9%; 95% CI 54.4%-77.5%) และกลุ่ม 24,000 IU ร่วมกับ calcifediol group (66.1%; 95% CI 53.5%-76.8%) เทียบกับกลุ่ม 24,000 IU group (47.9%; 95% CI 35.8%-60.3%) (p = 0.048) จำนวนเฉลี่ยของการหกล้มต่างกันเล็กน้อยระหว่างแต่ละกลุ่มและสอดคล้องตามอุบัติการณ์ของการหกล้ม โดยกลุ่ม 60,000 IU (ค่าเฉลี่ย 1.47) และกลุ่ม 24,000 IU ร่วมกับ calcifediol (ค่าเฉลี่ย 1.24) มีจำนวนเฉลี่ยของการหกล้มสูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่ม 24,000 IU (ค่าเฉลี่ย 0.94) (p = 0.09)
ถึงแม้ขนาดวิตามินดีที่สูงกว่าในแต่ละเดือนได้ผลดีกว่าในแง่การเพิ่ม 25-hydroxyvitamin D ให้ถึงระดับ 30 นาโนกรัม/มิลลิลิตร แต่ก็ไม่มีประโยชน์ต่อการทำงานของรยางค์ส่วนล่าง ขณะที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการหกล้มเมื่อเทียบกับขนาด 24,000 IU