‘หลักสูตรแพทย์นานาชาติ’ เสริมศักยภาพทางการแพทย์ไทยสู่สากล
ถือเป็นครั้งแรกของความร่วมมือทางวิชาการภาครัฐร่วมเอกชน (Public Private Synergy) ในการจัดการศึกษา ส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูงด้านแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค (Medical Hub) โดยล่าสุดได้มีการจัดพิธีลงนามความร่วมมือขึ้นระหว่างวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และบริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ภายใต้กรอบความร่วมมือที่มุ่งเน้นทางด้านวิชาการ อาทิ การแลกเปลี่ยนบุคลากร การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ งานวิจัย การจัดการบรรยายและการประชุมวิชาการ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
รศ.นพ.กัมมาล กุมาร ปาวา รักษาการในตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ กล่าวถึงความเป็นมาของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ว่า สภามหาวิทยาลัยมีมติจัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555 โดยมีภารกิจเพื่อการศึกษาวิจัย และมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา ส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูงด้านแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการให้บริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยใช้ภาษาต่างประเทศเป็นหลักในการจัดการศึกษาเพื่อรองรับกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบกับการที่ประเทศไทยประกาศตนเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค ในโอกาสนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เล็งเห็นว่า ทางมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางด้านการแพทย์ของภูมิภาคได้ โดยในกรอบความร่วมมือดังกล่าว ได้มีการตกลงแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักศึกษา ความร่วมมือระหว่างสถาบันในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับการจัดพิธีลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างภาครัฐและเอกชน รองรับการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และการศึกษาหลังปริญญาทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยจัดให้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภายในพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการภาครัฐร่วมเอกชน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ธรรมศาสตร์มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับหน่วยงานเอกชนสำคัญทางการแพทย์สองหน่วยงานของประเทศไทย หน่วยงานแรกคือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นำโดย ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ หน่วยงานที่สองคือบริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำโดย รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร โดยส่วนตัวรู้จักทั้งสองหน่วยงานเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นหน่วยงานชั้นนำในประเทศไทย โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จัดเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ดีอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย มีความทันสมัย มีความก้าวหน้า มีแพทย์จำนวนมาก มีล่ามภาษาต่างประเทศมากกว่าร้อยคน และที่สำคัญคือมีความเป็นอินเตอร์ สำหรับบริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือเป็นองค์กรเอกชนที่เป็นที่รู้จักในด้านความสวยความงามอย่างกว้างขวาง ขณะที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่สอนด้านการแพทย์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนำพาประเทศไทยให้เติบโตก้าวหน้าทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสามหน่วยงานได้ร่วมมือกัน”
ศ.ดร.สมคิด กล่าวอีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ภาครัฐคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับความรู้จากเอกชน สามารถนำองค์ความรู้ต่าง ๆ จากภาคเอกชนมาพัฒนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ในขณะเดียวกันยังทำให้องค์กรเอกชนได้ร่วมมือกับภาครัฐ โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์จัดว่าเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้มากพอ มีแพทย์จำนวนมากที่จะถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ได้
“เป้าหมายของเราคือ นำพาระบบการแพทย์ของประเทศไทย จัดการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยที่สุด และเทียบชั้นกับนานาชาติได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความรู้ทางวิชาการของประเทศไทยสามารถเทียบชั้นได้อยู่แล้ว แต่ในด้านการเรียนการสอนนั้น เราจะใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก บัดนี้เราจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เพื่อทำให้แพทย์ไทยเติบโตและก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น”
ด้าน ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ กลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐในด้านการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งด้วยจำนวนบุคลากรทางการแพทย์มีอยู่อย่างจำนวนจำกัด หากเปิดกว้างให้โรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีอยู่หลายแห่งได้เข้ามามีส่วนร่วม มั่นใจได้ว่าจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมาก โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นผู้นำด้านมาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล
รศ.ดร.นพ.พิชิต สุวรรณประกร ประธานบริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการศึกษา ส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูงด้านแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างหลักสูตรแพทย์นานาชาติ โดยบริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จะให้การสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงความร่วมมือด้านงานวิจัยร่วมกัน ตลอดจนการจัดสัมมนา การประชุมวิชาการต่าง ๆ โดยมีสาระสำคัญในเรื่องการดูแลรักษา การป้องกัน การฟื้นฟู และการนำไปสู่ความสุข อันจะเป็นประโยชน์ในการสร้างนักเรียนแพทย์ที่มีศักยภาพ และเป็น International Standard ทางการแพทย์ เพื่อรองรับการเปิดตลาดสู่ AEC ที่กำลังจะมาถึง
รศ.นพ.กัมมาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานที่ตั้งของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ คือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขณะนี้ได้งบประมาณจากรัฐบาลเพื่อสร้างตึกใหม่ และอยู่ระหว่างการยกร่างหลักสูตร โดยลักษณะของความเป็นนานาชาติจะต้องประกอบด้วย 3 เรื่องใหญ่ ๆ เรื่องแรกคือ หลักสูตรความเป็นนานาชาติ ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือไทย แต่เนื่องจากหลักสูตรของไทยเป็นส่วนผสมระหว่างสองหลักสูตรจึงตัดสินใจเลือกหลักสูตรของไทย เรื่องที่สองคือ การรับนักศึกษาจากต่างประเทศ ในช่วง 3-4 ปีแรกจะยังไม่รับ ยกเว้นเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เพราะปกติรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีการรับนักศึกษาที่อยากเรียน โดยจะส่งเข้ามาผ่านทางรัฐบาลไทย เรื่องที่สามคือ มีแหล่งฝึกงานอยู่ในต่างประเทศ ขณะนี้คู่สัญญามีในญี่ปุ่น อินเดีย อังกฤษ และกำลังพูดคุยทาบทามกับทางรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งจะเดินทางมาดูงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยสรุปหลักสูตรขณะนี้ได้ยกร่างเป็นหลักสูตรนานาชาติ แต่จะรับนักเรียนไทยก่อนเพื่อไม่ให้มีข้อขัดแย้งทางแพทยสภา แต่ในอนาคตจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีนักศึกษาจากต่างประเทศให้ความสนใจและติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หลังจากยกร่างหลักสูตรแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ต้องส่งเข้าไปที่กลุ่มแพทย์สถาบันและแพทยสภาเพื่อรับรองหลักสูตร กระบวนการจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน นั่นหมายความว่าประมาณเดือน ธันวาคม-มกราคม จะสามารถเริ่มได้ และจะเปิดการศึกษาในเดือนสิงหาคมปีหน้า
“เรามีสถานที่เรียนคือต่างประเทศแห่งหนึ่ง ธรรมศาสตร์แห่งหนึ่ง และโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง แต่ว่าเรายังไม่ได้ใช้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นที่เรียนของนักศึกษาแพทย์ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง แต่เราจะใช้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาโท ส่วนทางแพน ราชเทวี จะมุ่งในเรื่องของ Cosmetic Dermatology เพราะปัจจุบันจะเห็นว่ามีคนที่เสียชีวิตจากการฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ แสดงว่าหน่วยการศึกษาไม่ได้รับผิดชอบเรื่องนี้ ผมคิดว่านี่เป็นบริบทการศึกษาที่ต้องมาสอนให้เป็นศาสตร์ ทำจากสิ่งที่ไม่ใช่ศาสตร์ เรียนรู้ด้วยตัวเอง กลับมาเรียนรู้จากหนังสือ เพื่อให้เข้าใจว่าทำอย่างนี้อันตราย ทำอย่างนี้ปลอดภัยกับคนไข้ อะไรที่มันผิด ๆ อยู่ มหาวิทยาลัยต้องเอามาทำ”
รศ.นพ.กัมมาล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ด้วยความที่เป็นวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ จึงจำกัดที่หลักสูตรแพทยศาสตร์ แต่ได้เพิ่มหลักสูตรแพทย์แผนไทย รวมถึงหลักสูตรใหม่ อาทิ เทคโนโลยีโรคไต เทคโนโลยีโรคหัวใจ เทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้เทคนิคพิเศษ นอกจากนี้ทางด้านปริญญาโทมีเรื่องของการพัฒนายา (Drug Development) เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ (Reproductive Medicine) การแพทย์แบบผสมผสาน (Integrative Medicine) โดยนำมาบูรณาการหลักสูตรใหม่ซึ่งจะไม่ซ้ำกับที่อื่น
“เราใช้หลักว่าแต่ละวิชาต้องจับกับต่างประเทศเพื่อเป็นแกน หรือเราเป็นแกนแล้วส่งไป เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจว่าต่างประเทศกำลังทำอะไร เช่น ญี่ปุ่นมีความตกลงความร่วมมือทางด้านผิวหนังกับเรา ควีนส์แลนด์ตกลงทางด้านโรคทางเดินอาหาร อินเดียมีความร่วมมือในหลายโรคที่หมดไปจากประเทศไทย เช่น โรคเรื้อน โดยอาจจะมีการส่งนักเรียนไปดูงาน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนด้วย เนื่องจากทางอินเดียยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยอย่างที่ทราบกันอยู่ สำหรับภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนนั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ถ้าหากภาษาอังกฤษยังไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่สามารถไปได้ อย่างกรณีของรัฐควีนส์แลนด์ มีข้อเสนอว่าต้องรู้ภาษาอังกฤษระดับสูงถึงจะได้ไป เพราะถ้าภาษาไม่ดี เรียนไม่ได้ ก็จะไม่คุ้มค่า”
รศ.นพ.กัมมาล เน้นย้ำว่า การก่อตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปได้สองทาง ประการแรก จากเดิมที่เรียนจากตำราของต่างประเทศ ซึ่งตำราของต่างประเทศนั้นเป็น Body of Knowledge เนื่องจากเราต้องขอตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ จะต้องแปลเป็นไทย แต่เนื่องจากความไม่ลุ่มลึกทางวิชาการ ทำให้แปลไม่เข้าถึง การเรียนเป็นภาษาอังกฤษจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อเกิดการพัฒนา ประการที่สอง เป็นการเข้าถึงด้านภาษา เข้าถึงวิธีคิดใหม่ โดยลักษณะการสอนคือ นักเรียนต้องเรียนเอง ตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการใช้ความคิด เสมือนเป็นการสร้างโพรดักส์ใหม่ สร้างนักศึกษาใหม่ที่มีความแตกต่างจากปัจจุบัน
การร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการภาครัฐร่วมเอกชนในโอกาสนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะก่อให้เกิดความร่วมมือด้านวิชาการทางการแพทย์ในระดับสากลระหว่างภาครัฐและเอกชน การส่งเสริมความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รองรับการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท-เอก ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ และเพื่อรองรับความต้องการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย