ผลออกกำลังกายต่อปวดหลังส่วนล่าง
JAMA Intern Med. Published online January 11, 2016.
บทความเรื่อง Prevention of Low Back Pain: A Systematic Review and Meta-analysis รายงานว่า แนวทางเวชปฏิบัติปัจจุบันและข้อมูลจากการศึกษาทบทวนยังคงขาดคำแนะนำที่แน่ชัดสำหรับการป้องกันการปวดหลังส่วนล่าง การศึกษานี้ได้ประเมินประสิทธิผลของการรักษาสำหรับป้องกันภาวะปวดหลังส่วนล่างโดยรวบรวมข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบแนวทางการป้องกันภาวะปวดหลังส่วนล่างจากฐานข้อมูล MEDLINE, EMBASE, Physiotherapy Evidence Database Scale และ Cochrane Central Register of Controlled Trials นับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2014
นักวิจัยได้สังเคราะห์ข้อมูลและประเมินความเสี่ยงต่ออคติตามดัชนี Physiotherapy Evidence Database Scale รวมถึงประเมินคุณภาพของหลักฐานด้วย Grading of Recommendations Assessment, Development และ Evaluation system ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง และผลลัพธ์รอง ได้แก่ การลาป่วยที่สัมพันธ์กับภาวะปวดหลังส่วนล่าง โดยคำนวณ relative risks (RRs) และ 95% CIs ด้วยตัวแบบ random-effects models
จากการสืบค้นพบงานวิจัยที่อาจสอดคล้องกับเกณฑ์การศึกษา 6,133 ฉบับ ซึ่งจากจำนวนนี้มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ 23 ฉบับ (จากการศึกษาเปรียบเทียบ 21 ฉบับ รวมอาสาสมัคร 30,850 ราย) ที่สอดคล้องกับเกณฑ์การศึกษา เมื่อพิจารณาตามค่า RRs (95% CIs) พบว่ามีหลักฐานคุณภาพปานกลางที่ชี้ว่า การออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง (0.55 [0.41-0.74]) โดยมีหลักฐานคุณภาพต่ำไม่พบว่ามีผลต่อการลาป่วย (0.74 [0.44-1.26]) ขณะที่หลักฐานคุณภาพต่ำถึงต่ำมากเสนอว่าการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวอาจลดความเสี่ยงทั้งต่อการเกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง (0.65 [0.50-0.86]) และการลาป่วย (0.22 [0.06-0.76]) สำหรับการให้ความรู้อย่างเดียวพบว่า มีหลักฐานคุณภาพปานกลางถึงต่ำมากชี้ว่าไม่มีผลต่ออาการปวดหลังส่วนล่าง (1.03 [0.83-1.27]) หรือการลาป่วย (0.87 [0.47-1.60]) โดยมีหลักฐานคุณภาพต่ำถึงต่ำมากชี้ว่า เข็มขัดพยุงหลังไม่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง (1.01 [0.71-1.44]) หรือการลาป่วย (0.87 [0.47-1.60]) และมีหลักฐานคุณภาพต่ำชี้ว่า แผ่นรองเท้าไม่มีผลป้องกันอาการปวดหลังส่วนล่าง (1.01 [0.74-1.40])
หลักฐานในปัจจุบันเสนอว่า การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการให้ความรู้มีผลดีต่อการป้องกันอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยที่การรักษาอื่น เช่น การให้ความรู้อย่างเดียว การใช้เข็มขัดพยุงหลัง และแผ่นรองเท้าไม่มีผลต่อการป้องกันการปวดหลังส่วนล่าง อย่างไรก็ดี ยังไม่ทราบผลที่แน่ชัดของการให้ความรู้ การออกกำลังกาย หรือการปรับสรีระช่วยป้องกันการลาป่วยได้หรือไม่ เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ