ยาเม็ดคุมกำเนิดและความเสี่ยงพิการแต่กำเนิด

ยาเม็ดคุมกำเนิดและความเสี่ยงพิการแต่กำเนิด

BMJ 2016;352:h6712.

            บทความเรื่อง Maternal Use of Oral Contraceptives and Risk of Birth Defects in Denmark: Prospective, Nationwide Cohort Study รายงานข้อมูลจากการศึกษาประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในช่วงใกล้การตั้งครรภ์และความเสี่ยงต่อความพิการรุนแรงแต่กำเนิด

            การศึกษามีรูปแบบเป็นการศึกษาวิจัยเชิงสังเกตแบบไปข้างหน้า การศึกษาได้รวบรวมข้อมูลการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดและความพิการรุนแรงแต่กำเนิดจากการคลอดมีชีวิต 880,694 รายในทะเบียนของประเทศเดนมาร์กระหว่างปี ค.ศ. 1997-2011 โดยอนุมานการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดครั้งล่าสุดตามใบสั่งยา ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ จำนวนของความพิการรุนแรงแต่กำเนิดจากการติดตามระยะเวลา 1 ปี (ประเมินตามเกณฑ์ European Surveillance of Congenital Anomalies) โดยประมาณ prevalence odds ratios ต่อความพิการรุนแรงแต่กำเนิดและชนิดของความพิการแต่กำเนิดด้วยการวิเคราะห์ถดถอยเชิงเส้น

            ความชุกของความพิการรุนแรงแต่กำเนิด (ต่อ 1,000 ราย) คงที่ในทุกกลุ่มของการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด (25.1 ในกลุ่มที่ไม่เคยใช้; 25.0 ในกลุ่มที่ใช้ > 3 เดือนก่อนเริ่มตั้งครรภ์ [กลุ่มอ้างอิง]; 24.9 ในกลุ่มที่ใช้ 0-3 เดือนก่อนเริ่มตั้งครรภ์ [ใช้ล่าสุด]) และ 24.8 ในกลุ่มที่ใช้หลังเริ่มตั้งครรภ์) จากข้อมูลไม่พบการเพิ่มขึ้นด้านความชุกของความพิการรุนแรงแต่กำเนิดจากการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในผู้หญิงที่ใช้ล่าสุดจนถึงก่อนตั้งครรภ์ (prevalence odds ratio 0.98 [95% confidence interval 0.93-1.03]) หรือใช้หลังเริ่มตั้งครรภ์ (0.95 [0.84-1.08]) เมื่อเทียบกับกลุ่มอ้างอิง และไม่พบการเพิ่มขึ้นด้านความชุกของกลุ่มย่อยความพิการรุนแรงแต่กำเนิด (เช่น แขนขาพิการ) อนึ่ง จากการศึกษาไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้หญิงกลุ่มตัวอย่างได้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดล่าสุดตามใบสั่งยาหรือไม่ นอกจากนี้จำนวนความพิการแต่กำเนิดที่น้อยทำให้จำแนกผลลัพธ์ได้ยาก ผลลัพธ์อาจได้รับอิทธิพลจากตัวแปรกวน และการวิเคราะห์ไม่ได้รวมข้อมูลของโฟเลตอันเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญ

            การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงระหว่างตั้งครรภ์น่าจะไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อความพิการรุนแรงแต่กำเนิด