ผลลัพธ์ต่อไตจาก Aliskiren ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ผลลัพธ์ต่อไตจาก Aliskiren ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

Lancet. Published Online: 13 January 2016.

            บทความเรื่อง Renal Outcomes with Aliskiren in Patients with Type 2 Diabetes: A Prespecified Secondary Analysis of the ALTITUDE Randomised Controlled Trial อ้างถึงผลลัพธ์เบื้องต้นจากการศึกษา ALTITUDE ชี้ว่า ยา aliskiren ไม่มีประโยชน์ต่อการทำงานของไต (การเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวของซีรัมครีเอตินินและไตวายระยะสุดท้าย) เมื่อให้เสริมกับการรักษาด้วย angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors หรือ angiotensin receptor blockers (ARBs) ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และไตวายเรื้อรัง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษานี้จึงได้วิเคราะห์ prespecified analysis จากการศึกษา ALTITUDE เพื่อวิเคราะห์ผลของ aliskiren ต่อการทำงานของไตในผู้ป่วยทุกราย และผลลัพธ์หลักด้านไตในผู้ป่วยกลุ่มย่อย  

            การศึกษา ALTITUDE ซึ่งเป็นการศึกษาเปรียบเทียบด้วยวิธีสุ่มและปกปิด 2 ทางได้สุ่ม (1:1) ให้ผู้ป่วย 8,561 รายซึ่งเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และไตวายเรื้อรัง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดได้รับ aliskiren 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือยาหลอกเสริมการรักษาด้วย ACE inhibitors หรือ ARBs การสุ่มได้แบ่งชั้นตามค่าแอลบูมินต่อครีเอตินินในปัสสาวะเมื่อเริ่มต้นการศึกษาและประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยผู้ป่วยและคณะวิจัยทั้งหมดไม่ทราบข้อมูลการรักษาที่ได้รับ และมัธยฐานการติดตามมีระยะเวลา 2.6 ปี (IQR 2.0-3.2) ในการวิเคราะห์ทุติยภูมิได้ตรวจผลลัพธ์ระยะสั้นด้านการทำงานของไตที่จำเพาะมาก่อนจากการเปลี่ยนระยะของไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ (กล่าวคือ การเปลี่ยนจาก normoalbuminuria, microalbuminuria และ macroalbuminuria) และอัตราการเปลี่ยนแปลงของอัตรากรองไต (eGFR) การศึกษาได้ประเมินผลลัพธ์ทั้งหมดในกลุ่ม intention to treat อนึ่ง ผลลัพธ์หลักด้านการทำงานของไตจากการศึกษา ALTITUDE ได้แก่ ระดับซีรัมครีเอตินินที่สูงเป็นเท่าตัวต่อเนื่อง ไตวายระยะสุดท้าย หรือการเสียชีวิตจากโรคไต

            ยา aliskiren ลดการดำเนินโรคได้อย่างมีนัยสำคัญ (hazard ratio [HR] 0.83, 95% CI 0.75-0.93) และเพิ่มการถดถอย (HR 1.29, 95% CI 1.19-1.39) ด้านการเปลี่ยนระยะของภาวะไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ  อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่า eGFR รายปีเท่ากับ -3.1 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตรต่อปี (95% CI -2.9 ถึง -3.3) ในกลุ่มที่ได้รับ aliskiren และ -3.0 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตรต่อปี (-2.8 ถึง -3.2) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (p = 0.52) ค่า eGFR ในช่วง 6 เดือนแรกมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญจากการรักษาด้วย aliskiren เทียบกับยาหลอก (-2.5 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร, 95% CI -2.9 ถึง -2.2 เทียบกับ -1.4 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร, 95% CI -1.7 ถึง -1.0; p < 0.0001) ค่า eGFR ในระยะหลังไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม (-2.8 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตรต่อปี, 95% CI -3.0 ถึง -2.6 จาก aliskiren เทียบกับ -3.1 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตรต่อปี, 95% CI -3.3 ถึง -2.8 จากยาหลอก; p = 0.068) ซึ่งจากการศึกษาไม่พบประโยชน์ของ aliskiren ต่อจุดยุติปฐมภูมิด้านโรคไตในประชากรโดยรวมซึ่งสอดคล้องกับในกลุ่มย่อยของผู้ป่วยอีกหลายกลุ่ม

            ยา aliskiren ไม่มีประโยชน์ต่อผลลัพธ์ด้านไตทั้งในกลุ่มประชากรโดยรวมและกลุ่มย่อย แต่พบว่ามีผลชะลอการดำเนินโรคไปสู่ microalbuminuria และ macroalbuminuria รวมถึงกระตุ้นการถดถอยกลับสู่ microalbuminuria และ normoalbuminuria โดยควรมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าผลลัพธ์ระยะสั้นดังกล่าวมีข้อบกพร่องสำหรับใช้แทนผลลัพธ์ทางคลินิกหรือไม่ หรือมีความไม่จำเพาะเจาะจงที่ขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ตัวแทนและผลลัพธ์ทางคลินิกหรือไม่