ยาต้านวัณโรคเข้มข้นในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสษจากวัณโรค

ยาต้านวัณโรคเข้มข้นในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรค

N Engl J Med 2016;374:124-134.

            บทความเรื่อง Intensified Antituberculosis Therapy in Adults with Tuberculous Meningitis รายงานว่า ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรคมักรุนแรงถึงแก่ชีวิต ซึ่งแม้การรักษาโดยให้ยาต้านวัณโรคโดยเร็วและการรักษาเสริมด้วย glucocorticoids ช่วยให้การรอดชีวิตดีขึ้น แต่ก็ยังคงพบผู้ป่วยเสียชีวิตราว 1 ใน 3 การศึกษานี้ได้ตั้งสมมติฐานว่า การรักษาด้วยยาต้านวัณโรคแบบเข้มข้นจะเพิ่มการกำจัดเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ในสมองและลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วย 

            การศึกษามีรูปแบบเป็นการศึกษาแบบสุ่มปกปิด 2 ทางเปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ใหญ่ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ใหญ่ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งตรวจพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรคและรับเข้ารักษายังโรงพยาบาล 2 แห่งในประเทศเวียดนาม การศึกษาได้เปรียบเทียบสูตรยาต้านวัณโรคมาตรฐานระยะ 9 เดือน (รวม rifampin 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) กับสูตรยาต้านวัณโรคเข้มข้นซึ่งรวม rifampin ขนาดสูง (15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) และ levofloxacin (20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน) สำหรับการรักษาในช่วง 8 สัปดาห์แรก โดยกำหนดให้การเสียชีวิตภายใน 9 เดือนหลังการสุ่มเป็นผลลัพธ์หลัก

            การศึกษาได้รวบรวมผู้ป่วย 817 ราย (ติดเชื้อเอชไอวี 349 ราย) โดย 409 รายได้สุ่มให้ได้รับการรักษามาตรฐาน และ 408 รายได้รับการรักษาแบบเข้มข้น ระหว่างการติดตามในระยะ 9 เดือนพบผู้ป่วยเสียชีวิต 113 รายในกลุ่มรักษาเข้มข้น และ 114 รายในกลุ่มรักษามาตรฐาน (hazard ratio 0.94; 95% confidence interval 0.73-1.22; p = 0.66) จากการศึกษาไม่พบหลักฐานว่ามีผลต่างที่มีนัยสำคัญจากการรักษาแบบเข้มข้นในกลุ่มตัวอย่างโดยรวมหรือในกลุ่มย่อย โดยอาจยกเว้นผู้ป่วยที่ติดเชื้อ M. tuberculosis ที่ดื้อต่อ isoniazid รวมถึงไม่พบผลต่างที่มีนัยสำคัญด้านผลลัพธ์รองระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งนี้จำนวนรวมของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่นำไปสู่การหยุดยาไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม (64 เหตุการณ์ในกลุ่มรักษามาตรฐาน และ 95 เหตุการณ์ในกลุ่มรักษาแบบเข้มข้น ค่า p = 0.08)

การรักษาด้วยยาต้านวัณโรคแบบเข้มข้นไม่สัมพันธ์กับอัตราที่สูงขึ้นของการรอดชีวิตในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากวัณโรคเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน