ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ มอบรางวัลอายุรแพทย์ดีเด่น และอายุรแพทย์รุ่นใหม่โดดเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ มอบรางวัลอายุรแพทย์ดีเด่น และอายุรแพทย์รุ่นใหม่โดดเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559

เมื่อวันที่ 27-29 เมษายนที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 32 ประจำปี พ.ศ. 2559 ภายใต้ Theme "Value- based Medical Practice" ณ ศูนย์ประชุม PEACH โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการด้านการแพทย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อเพิ่มทักษะในการรักษาด้วยเครื่องมือทางการแพทย์และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เกิดการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความสมัครสมานสามัคคีระหว่างกัน

โดยการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมต่าง ๆ ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกหัวข้อที่ครอบคลุมทุกด้านในการวินิจฉัย การตรวจรักษา ตลอดในช่วงปีที่ผ่านมาและในอนาคตอันใกล้ ซึ่งแพทย์ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถติดตามความก้าวหน้าเหล่านี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ อีกทั้งยังนำไปประยุกต์ใช้ในเวชปฏิบัติทั่วไปได้

ทั้งนี้รูปแบบเนื้อหาสาระของการประชุมวิชาการตลอด 3 วัน ยังคงความทันสมัยและมีความหลากหลายเช่นเดิม ทั้ง Workshop, Symposium, Clinical case seminar case, Meet the experts, Guidelines, Landmark clinical study และ Breakthroughs in internal medicine ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในโรคต่าง ๆ มาให้ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในงานยังมีพิธีมอบวุฒิบัตรและบัตรสมาชิกภาพแก่อายุรแพทย์ที่สอบได้วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญทั้งสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไปและอายุรศาสตร์ต่อยอด รวมทั้งพิธีมอบรางวัลอายุรแพทย์ดีเด่นในด้านต่าง ๆ และรางวัลอายุรแพทย์รุ่นใหม่โดดเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559 เพื่อประกาศเกียรติคุณความดีงามและแบบอย่างที่น่าสรรเสริญให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่อายุรแพทย์รุ่นหลังต่อไป

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลอายุรแพทย์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559 ด้านวิชาการ คือ .นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล ด้านการบริการคลินิก คือ .นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ด้านการบริการชุมชน คือ พญ.เกศทิพย์ บัวแก้ว และอายุรแพทย์รุ่นใหม่โดดเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559 คือ รศ.นพ.ประเดิมชัย คงคำ โดยมี .นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานคณะอนุกรรมการสรรหาอายุรแพทย์ดีเด่น เป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลอายุรแพทย์ดีเด่น และอายุรแพทย์รุ่นใหม่โดดเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559 และ .นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้มอบรางวัล 

.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ 
อายุรแพทย์ดีเด่นด้านการบริการคลินิก

.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เกียรตินิยมอันดับ 1 ในปี พ.ศ. 2533 และได้ศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จนได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาอายุรศาสตร์ และอนุสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย Dip. In Cardiology (Distinction) ในปี พ.ศ. 2542 จาก National Heart and Lung Institute Imperial College School of Medicine, University of London, United Kingdom และได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา .นพ.รังสฤษฎ์ ได้แสดงตนให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้ง ในด้านการครองตน เป็นผู้ที่ยึดมั่นในความถูกต้อง ประพฤติตนอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรม มีครอบครัวที่อบอุ่น ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย มีความพอเพียง มีความรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในด้านการครองคน เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง ปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจอย่างเต็มกำลัง ตรงต่อเวลา ทุ่มเทกำลังกายและใจในการจัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน โดยจะเน้นในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม และการเคารพสิทธิของผู้ป่วยเป็นหลักสำคัญ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจในเขตภาคเหนืออย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ยอมรับจากองค์กรทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย และในด้านการให้บริการผู้ป่วย ได้มีความตั้งใจดูแลผู้ป่วยและปฏิบัติตนต่อผู้ป่วยทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ทำให้เป็นที่รักใคร่ของผู้ป่วยและญาติมิตรของผู้ป่วยทุกคน เป็นผู้ริเริ่มกลุ่มผู้ดำเนินการพัฒนาแก้ปัญหาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยระบบส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ขยายผลการดำเนินการไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทางภาคเหนือ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

นอกจากนี้ .นพ.รังสฤษฎ์ ยังได้ร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประจำ โดยเฉพาะด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนเป็นที่ยอมรับและรู้จักในสังคมภายนอกเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่คณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น คณะพยาบาลศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ และนอกมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในเรื่องศิลปะแห่งการเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า โดยไม่เคยปฏิเสธการรับเชิญ และเต็มใจที่จะถ่ายทอดความรู้โดยไม่รับค่าตอบแทน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ .นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้รับรางวัลอายุรแพทย์ดีเด่นด้านการบริการคลินิก ประจำปี พ.ศ. 2559   

.นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีแพทย์อีกจำนวนไม่น้อยที่ทำงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่เฉพาะผมคนเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการให้บริการผู้ป่วยซึ่งต้องอาศัยทีมงานที่ช่วยกันริเริ่มและพัฒนางานจนประสบความสำเร็จ จึงอยากจะมอบรางวัลนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่หน่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมแพทย์ที่ดูแลเรื่องโรคหัวใจของกระทรวงสาธารณสุขที่ขยายงานและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจให้ได้ผลดียิ่งขึ้น รางวัลนี้จึงเป็นรางวัลของทุกคน”

นอกจากบทบาทการทำงานในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ สอนนักศึกษาแพทย์ และทำงานวิจัยแล้ว .นพ.รังสฤษฎ์ ยังเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาเครือข่ายดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ จัดโครงการโรคหัวใจสัญจรไปยังโรงพยาบาลในชนบทที่ห่างไกล เพื่อตรวจคัดกรองและให้การรักษา รวมทั้งสอนทีมงานให้มีความพร้อม เป็นทีมที่เข้มแข็งในการดูแลผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน การฟื้นคืนชีพขั้นสูง การสร้างศักยภาพเครือข่ายให้สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดแก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และได้มีการขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่มุ่งให้การดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค การปฏิบัติตัว และการใช้ยาที่ถูกต้องให้แก่ผู้ป่วย โดยความร่วมมือของสหสาขาวิชาชีพ และเป็นต้นแบบของคลินิกผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวทั่วประเทศ

.นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวอีกว่า ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การมองปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย คงไม่ได้หมายถึงการรักษาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป เมื่อถึงจุดหนึ่งต้องถอยหลังออกมามองภาพใหญ่ในเชิงระบบมากขึ้น และช่วยกันพัฒนาปรับปรุงให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยความร่วมมือกันระหว่างแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพ

“อาชีพเราเป็นอาชีพที่มีความสุขได้จากการให้แก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นการให้ด้วยกำลังปัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง ขอเพียงทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ ก็จะมีความสุขจากการที่ได้ให้แก่ผู้อื่น จึงอยากฝากถึงอายุรแพทย์ทุกท่านให้มีความสุขกับสิ่งเหล่านี้ กับสิ่งที่ได้ทำให้แก่สังคมและผู้ป่วย” .นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย

พญ.เกศทิพย์ บัวแก้ว 

อายุรแพทย์ดีเด่นด้านการบริการชุมชน

พญ.เกศทิพย์ บัวแก้ว จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต และวุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. 2543 ผ่านการอบรมหลักสูตร Dialysis course, Intensive course และการวางสายสำหรับ CAPD ปัจจุบันเป็นแพทย์ชำนาญการพิเศษ สาขาอายุรกรรม ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลพัทลุง

ถือเป็นผู้หนึ่งที่ทุ่มเททำงานอย่างจริงจังมาตั้งแต่เป็นแพทย์ใช้ทุน หลังการลาศึกษาต่อได้กลับมาประจำที่โรงพยาบาลพัทลุง เป็นผู้นำในการพัฒนางานด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ดูแลตั้งแต่การหาข้อมูล วางแผนจัดทำแนวทางพัฒนาระบบ จัดทำ guideline และร่วมเป็นวิทยากร จนทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 10 อำเภอ ผ่านการประเมิน NCD คุณภาพ สมตามความมุ่งหมายการดูแลผู้ป่วยแบบใกล้บ้านใกล้ใจอย่างแท้จริง

จากการที่ได้ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน พบการเพิ่มขึ้นของภาวะไตเสื่อม พญ.เกศทิพย์ จึงได้ให้ความสนใจพัฒนาการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีการจัดทำค่ายเบาหวานอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดคลินิกเท้า ลดการตัดเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน จัดตั้งหน่วยไตเทียม CAPD และคลินิกโรคไต ในระยะแรกผู้ป่วยไม่กล้าทำ CAPD แต่ด้วยความทุ่มเทให้ความรู้ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการ CAPD และผลการรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการอยู่รอดที่สูง และอัตราการ Shift Mode ต่ำ เป็นอันดับต้น ๆ ของเขต 12 โดยระยะแรกคุณหมอจะไปเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อดูความพร้อม หากพบปัญหาจะประสานจนปัญหาทุเลาลง ทำให้ผู้ป่วยไตวายเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น และในฐานะประธานคณะกรรมการ PCT ได้เป็นผู้นำในการจัดทำมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ก่อตั้งชมรมโรคต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ทั้งในและนอกโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ

พญ.เกศทิพย์ เป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง หากมีผู้ป่วยที่ทำ CAPD หรือผู้ป่วยฉุกเฉินทางไต จำเป็นต้องล้างไต สามารถตามได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีสามี นพ.สุทธิรักษ์ บัวแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลพัทลุง มาช่วยวางสายล้างไตสำหรับ CAPD ทำให้สามารถทำงานได้รวดเร็ว และนอกจากบทบาทที่ทำอยู่เป็นประจำแล้ว ยังมีอีกหนึ่งบทบาทคือ การเป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนครศรีธรรมราช สอนนักศึกษาพยาบาล

ด้วยบุคลิกประจำตัวคือ แต่งกายสุภาพ กระฉับกระเฉง สื่อสารเข้าใจง่ายตรงประเด็น มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ ให้ความเป็นกันเองกับผู้น้อย มีน้ำใจช่วยเหลืองานทุกอย่าง สามารถจดจำผู้ป่วยได้ทุกคน เพียงแค่บอกชื่อก็จะเล่าประวัติผู้ป่วยได้ สามารถอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจเรื่องโรคโดยใช้ภาษาง่าย ๆ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แพทย์ที่เคยปฏิบัติงานด้วยกันพูดถึง พญ.เกศทิพย์ ว่าเป็นหมอที่สมบูรณ์ทั้งจิตใจ ความรู้ และทุ่มเทให้ผู้ป่วยเต็มที่ โดยไม่ได้คิดถึงตนเอง

จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ พญ.เกศทิพย์ บัวแก้ว ได้รับรางวัลอายุรแพทย์ดีเด่นด้านการบริการชุมชน ประจำปี พ.ศ. 2559

พญ.เกศทิพย์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า “เมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ซึ่งในครั้งนั้นถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงในการปฏิบัติงานในฐานะแพทย์แล้ว มาถึงรางวัลอายุรแพทย์ดีเด่นที่ได้รับในครั้งนี้ก็รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างสูง ถือเป็นรางวัลสูงสุดที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างมากในฐานะอายุรแพทย์ โดยส่วนหนึ่งในการพิจารณารางวัลน่าจะมาจากบทบาทการทำงานที่ไม่ได้ให้บริการผู้ป่วยเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังลงพื้นที่ไปในชุมชน หมู่บ้านด้วยตนเอง โดยเฉพาะในช่วงแรกของการจัดตั้งหน่วยไตเทียม CAPD ซึ่งเป็นการทำงานในลักษณะเชิงรุก โดยจะประสานงานกับเครือข่ายของจังหวัด ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพของโรงพยาบาล ทีมเครือข่ายภาคประชาชน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เหล่ากาชาดจังหวัด ที่ล้วนมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องให้ประสบความสำเร็จ และสามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้อย่างเป็นระบบ” 

จากความทุ่มเทในการทำงาน และสิ่งที่ยึดถือเสมอมา นั่นคือการเสียสละ โดยมองว่าการเสียสละเวลาเพียงนิด แต่ทำให้ผลการรักษานั้นสำเร็จหรือดีขึ้นได้ ก็ยอมเสีย ยกตัวอย่างเช่น การเปิดโทรศัพท์ไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีเบอร์โทรศัพท์ของแพทย์และพยาบาลไตเทียมติดตัวไว้อยู่แล้วสามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจเหมือนมีคนคอยดูแลอยู่ใกล้ ๆ และไม่รู้สึกกลัว และอีกสิ่งหนึ่งคือ หลักคำสอนของพระราชบิดา “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง” ซึ่งได้ยึดถือมาตลอด 10 ปีของการทำงาน 

สำหรับเป้าหมายต่อไป พญ.เกศทิพย์ ยังคงเดินหน้าพัฒนางานในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งหนึ่งในแผนงานที่วางไว้คือ การจัดการกับปัญหาโรค NCD เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ร่วมกับทีมเครือข่ายของจังหวัดที่ตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานในส่วนของ NCD โดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ขับเคลื่อนการทำงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ 

ต้องขอขอบคุณอาจารย์ทุก ๆ ท่าน ขอบคุณเพื่อน ๆ ในกำลังใจ ขอบคุณเพื่อนร่วมงานทุกระดับ ขอบคุณครอบครัว และที่สำคัญที่สุด ขอบคุณผู้ป่วยที่เป็นเสมือนครูในชีวิตจริงที่ทำให้ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และทำให้ได้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างทุกวันนี้ และจะทำต่อไป

ท้ายนี้ พญ.เกศทิพย์ ได้กล่าวฝากถึงอายุรแพทย์รุ่นหลังว่า “สถานการณ์การฟ้องร้องแพทย์เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้แพทย์รู้สึกไม่สบายใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเป็นไปในเชิงธุรกิจมากขึ้น แต่โดยส่วนตัวแล้วยังเชื่อว่า ถ้าพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา แสดงให้เขาเห็นถึงความตั้งใจในการช่วยเหลือ ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็จะไม่เกิดการฟ้องร้องอย่างแน่นอน” 

รศ.นพ.ประเดิมชัย คงคำ 
อายุรแพทย์รุ่นใหม่โดดเด่น

         รศ.นพ.ประเดิมชัย คงคำ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2538 จากนั้นได้เข้ารับการฝึกอบรมจนจบหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์และสาขาโรคระบบทางเดินอาหารจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา จนจบหลักสูตรและได้รับประกาศนียบัตรของหลักสูตรการส่องกล้องชั้นสูง อันประกอบไปด้วย การส่องกล้องคลื่นเสียงความถี่สูง และการส่องกล้องท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน

หลังจากจบการศึกษาได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นผู้ที่ริเริ่มองค์ความรู้ทางด้านการส่องกล้องคลื่นเสียงขึ้นในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และยังเป็นบุคคลสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านการส่องกล้องชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่องกล้องคลื่นเสียงในประเทศไทย โดยได้เปิดหลักสูตรอบรมเฉพาะทางต่อยอดของการส่องกล้องคลื่นเสียงสำหรับแพทย์ไทยและแพทย์ต่างประเทศ ทั้งยังมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการส่องกล้องทางเดินอาหารชั้นสูง และเป็นบรรณาธิการในวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติ

ในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านระบบทางเดินอาหารและการส่องกล้องให้แก่โรงพยาบาลที่มีขนาดเล็กกว่าและหน่วยงานต่าง ๆ ก็เป็นงานที่ได้ปฏิบัติเสมอมา ซึ่งมีส่วนช่วยให้โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถเพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น และเป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อแพทย์จากโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็กกว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีปัญหาในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคของตับอ่อน ท่อน้ำดี หรือมะเร็งในทางเดินอาหารที่ซับซ้อนซึ่งจำเป็นต้องใช้การส่องกล้องทางเดินอาหารชั้นสูงในการดูแลรักษา แพทย์เหล่านั้นสามารถส่งต่อมาให้ รศ.นพ.ประเดิมชัย ได้โดยสะดวก

สำหรับงานทางด้านอายุรศาสตร์โรงพยาบาล การดูแลผู้ป่วยปริหัตถการและผู้ป่วยนอกก็เป็นงานอีกด้านหนึ่งที่ รศ.นพ.ประเดิมชัย และกลุ่มอาจารย์ที่สนใจด้านนี้ได้ริเริ่มและทำต่อเนื่องมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลจากงานด้านนี้ทำให้การดูแลผู้ป่วยที่มีโรคทางอายุรกรรมที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการได้รับการดูแลที่ดีขึ้น มีการพัฒนาองค์ความรู้ การเผยแพร่ความรู้ และการเขียนตำรา เพื่อสนับสนุนงานด้านนี้ออกมาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ในส่วนของงานทางด้านผู้ป่วยนอก รศ.นพ.ประเดิมชัย และกลุ่มได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับระดับนิสิตแพทย์ที่แผนกผู้ป่วยนอกต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ส่งผลให้นิสิตที่จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในลักษณะผู้ป่วยนอกที่ดีขึ้นกว่าในอดีตอย่างชัดเจน มีการเข้าใจผู้ป่วยโดยองค์รวมและบูรณาการเอาความรู้ต่าง ๆ มาดูแลผู้ป่วยได้ เมื่อมองย้อนหลังกลับไปจะเห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ องค์ความรู้ทางด้านนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าในอดีต ส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ รศ.นพ.ประเดิมชัย คงคำ ได้รับรางวัลอายุรแพทย์รุ่นใหม่โดดเด่น ประจำปี พ.ศ. 2559

รศ.นพ.ประเดิมชัย กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า “ถือว่าเป็นเกียรติต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง แต่คิดว่ารางวัลที่ได้รับนี้ไม่ได้มอบให้เฉพาะตัวผม น่าจะมอบให้แก่ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนผมมาคือ รศ.นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ และ .นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ทั้ง 2 ท่านเป็นอาจารย์ทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารที่เป็นปรมาจารย์ของผม อบรมให้ความรู้มาตั้งแต่ทางเดินอาหารเบื้องต้นและการส่องกล้อง และอีกท่านที่ถือเป็นครูทางด้านอายุรศาสตร์โรงพยาบาลและผู้ป่วยนอกคือ รศ.นพ.วิทยา ศรีดามา รวมทั้งอาจารย์ท่านอื่น ๆ และเพื่อนร่วมงานทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่ทำงานหนักร่วมกันมา และที่สำคัญคือ ครอบครัว พญ.วันดี อารีรักษ์ ภรรยาที่อดทนต่อการที่ผมต้องใช้เวลาอย่างมากในงานทางด้านวิชาการ และงานทางด้านการแพทย์ เพราะฉะนั้น รางวัลที่ได้รับจึงคิดว่าน่าจะเป็นการมอบให้แก่ทุกท่านด้วยเช่นกัน” 

สำหรับเป้าหมายต่อไปของ  รศ.นพ.ประเดิมชัย ยังคงมุ่งมั่นและสนุกกับการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด และมุ่งเน้นพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีทางด้านการส่องกล้องซึ่งเป็นสิ่งที่มีความชำนาญ แต่ถ้าในอนาคตเทคโนโลยีทางด้านการส่องกล้องค่อนข้างจะนิ่ง ไม่ได้ก้าวกระโดดมากนัก อาจจะไปหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยผู้ป่วยให้ดีขึ้น นอกจากนั้นคือ การส่งต่อความรู้จากประสบการณ์ที่มีให้แก่เพื่อนแพทย์และแพทย์รุ่นน้อง เพื่อคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้นในอนาคต

“เชื่อว่าความภูมิใจในวิชาชีพแพทย์คือ การที่เราสามารถจะรักษาผู้ป่วยให้หายได้โดยความรู้ที่มี ทั้งจากที่ได้เรียนจากครูแพทย์มาดั้งเดิมและจากการที่เราได้พัฒนาขึ้นมาเอง ผมอยากจะฝากถึงเพื่อนแพทย์ทุกท่านว่างานวิจัยมีความสำคัญ แม้หลายคนจะรู้สึกว่ามันทำยาก แต่จริง ๆ แล้วไม่ยากขนาดนั้น เพราะการวิจัยเริ่มต้นจากสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นปัญหา นำไปสู่ความพยายามในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและแนวทางการแก้ไข ส่วนจะเลือกวิจัยในรูปแบบใดก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน แต่สิ่งสำคัญคือ การวิจัยต้องตั้งอยู่บนความไม่ลำเอียงหรืออคติ ทำด้วยความรอบคอบ สังเกตอย่างใกล้ชิด มีการบันทึกผลการทดลองถึงจะได้คำตอบที่แท้จริง และนำไปสู่การเผยแพร่ผลงานวิจัย จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนไปสู่การรักษาแนวทางใหม่ได้จึงจะถือเป็นที่สุดของความเป็นแพทย์ในมุมมองของผม”