นักวิจัยมหิดลพร้อมกลุ่มวิจัยไบโอเทค คว้าทุนนักวิจัยแกนนำ สวทช. ประจำปี พ.ศ. 2558
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานประกาศผลผู้ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี พ.ศ. 2558 จำนวน 2 ทุน ให้แก่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลและกลุ่มวิจัยไบโอเทคที่ทำวิจัยด้านโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี และนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยด้านวิศวกรรมนาโนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของสารกึ่งตัวนำเพื่อพัฒนาตัวตรวจจับแสงอินฟราเรด ด้วยระยะเวลาทุน 5 ปี จำนวนทุนละ 20 ล้านบาท เพื่อเป็นแกนนำผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพให้แก่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย พร้อมเป็นแกนหลักผลิตบุคลากรวิจัยให้แก่ประเทศต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากยิ่งขึ้น การส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยเพื่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่โดยกลุ่มวิจัยที่มีความเป็นเลิศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยโครงการทุนนักวิจัยแกนนำนับเป็นกลไกหนึ่งที่ สวทช. เล็งเห็นว่าจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยที่มีความเป็นเลิศดังกล่าวสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในหลายมิติ ทั้งในด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ที่จะสามารถเกิดผลกระทบสูงในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้ พร้อมช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศด้วย”
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ เลขานุการโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการทุนนักวิจัยแกนนำว่า “โครงการทุนนักวิจัยแกนนำมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยที่มีคุณภาพสูงสร้างสรรค์งานโดยมีอิสระทางวิชาการพอสมควร และเป็นแกนนำให้แก่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้มีการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพอันจะนำไปสู่การยื่นจดสิทธิบัตร การผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ และต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพต่อการแก้ปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคสังคม อีกทั้งเพื่อเป็นแกนหลักในการผลิตบุคลากรวิจัยสู่วงการวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้สนับสนุนทุนนักวิจัยแกนนำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2557 ไปแล้วทั้งสิ้น 11 โครงการ แต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 22 ต้นแบบ ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากกว่า 459 เรื่อง สิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร 23 เรื่อง การผลิตบุคลากรในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก รวม 276 คน อีกทั้งยังมีการนำผลงานวิจัยไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะแล้ว”
“จากมติการพิจารณาของคณะกรรมการทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี พ.ศ. 2558 เห็นสมควรมอบทุนดังกล่าวให้แก่นักวิจัยแกนนำของประเทศ 2 ท่าน ได้แก่ นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จากโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยแบบบูรณาการเพื่อค้นหาชุดของสารบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ” และท่านที่ 2 คือ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโครงการวิจัยเรื่อง “ควอนตัมนาโนกลุ่มแอนติโมนีสำหรับการพัฒนาการตรวจจับแสงอินฟราเรด”
นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ และเชี่ยวชาญเรื่องโรคไข้เลือดออก ท่านได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ภายใต้โครงการนี้ คณะผู้วิจัยจะสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญในการเข้าใจกลไกการติดเชื้อไวรัสเดงกี และการเกิดไข้เลือดออกที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน นำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรค และทำนายความรุนแรงของโรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่ามีชุดตรวจวินิจฉัยใดที่สามารถทำนายความรุนแรงของโรคได้ โครงการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข เพิ่มความตระหนักในวงการแพทย์ในโรคไข้เลือดออก ช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก ซึ่งจะส่งผลลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขของประเทศต่อไป
สำหรับโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยแบบบูรณาการเพื่อค้นหาชุดของสารบ่งชี้ทางชีวภาพชนิดใหม่ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์ความรุนแรงของโรค และการรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขของประเทศในเขตร้อนชื้น รวมทั้งประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมากในทุกปี ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีการพัฒนาก้าวหน้าที่สุดยังไม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากความซับซ้อนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและความหลากหลายของเชื้อไวรัส ในปัจจุบันถึงแม้จะมีเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก แต่ปัญหาใหญ่ที่สำคัญสำหรับแพทย์ผู้รักษาคือ การขาดเทคโนโลยีที่สามารถแยกแยะผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรงออกจากกลุ่มผู้ป่วยที่จะเกิดอาการรุนแรงของโรค ซึ่งกลุ่มหลังนี้ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดและทันท่วงทีจะป้องกันการเสียชีวิตได้ ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้เข้าใจถึงกลไกการเกิดโรคในคนไข้ที่มีอาการของโรคที่มีความรุนแรงต่างกัน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อค้นหาตัวบ่งชี้ที่จะนำไปพัฒนาเป็นชุดตรวจวินิจฉัยที่มีความแม่นยำและสามารถบอกความรุนแรงของโรคได้
นพ.ปรีดา หัวหน้าทีมวิจัย ร่วมกับทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกและไวรัสเดงกีเพื่อเข้าใจกลไกการเกิดโรค ร่วมกับการสร้างเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันทั้งงานวิจัยพื้นฐานและการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี โดยโครงการวิจัยทุนแกนนำนี้เป็นการทำงานร่วมกันของทีมวิจัยทั้งภายในและนอกประเทศ รวมถึงภาคเอกชน ในการศึกษามุ่งเป้าเพื่อทำความเข้าใจกลไกและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากโปรตีนของไวรัสชื่อเอ็นเอสวัน (NS1) ซึ่งเชื่อว่ามีบทบาทในการเกิดความรุนแรงของโรค เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยวินิจฉัยและบ่งชี้ความรุนแรงของโรคได้