หยุดแอสไพรินหรือให้ยาต่อก่อนผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ

หยุดแอสไพรินหรือให้ยาต่อก่อนผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ

N Engl J Med 2016;374:728-737.

            บทความเรื่อง Stopping vs. Continuing Aspirin before Coronary Artery Surgery รายงานว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมักได้รับยาแอสไพรินเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจตาย สโตรค และการเสียชีวิตทั้งในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ และแม้แอสไพรินมีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในผู้ป่วยผ่าตัด แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าควรหยุดยาแอสไพรินก่อนการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจหรือไม่

            การศึกษาได้ใช้วิธีแฟคตอเรียลแบบ 2x2 สุ่มให้ผู้ป่วยที่จะเข้าผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจและมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัดได้รับแอสไพรินหรือยาหลอก และกรดทราเนซามิกหรือยาหลอก โดยได้รายงานข้อมูลจากการศึกษาผลลัพธ์ของแอสไพรินในบทความนี้ ทั้งนี้ผู้ป่วยได้สุ่มให้ได้รับแอสไพริน 100 มิลลิกรัมหรือยาหลอกขนาดเท่ากันก่อนการผ่าตัด ผลลัพธ์หลักได้แก่ ผลรวมของการเสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนจากการขาดเลือด (กล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต  สโตรค ลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ไตวาย หรือลำไส้ขาดเลือด) ภายใน 30 วันหลังผ่าตัด

            การศึกษาได้รวบรวมผู้ป่วย 2,100 รายจาก 5,784 ราย โดย 1,047 ราย ได้รับแอสไพริน และ 1,053 ราย ได้รับยาหลอก เหตุการณ์ของผลลัพธ์หลักเกิดขึ้นในผู้ป่วย 202 รายในกลุ่มที่ได้รับแอสไพริน (19.3%) และใน 215 รายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (20.4%) (relative risk เท่ากับ 0.94   ค่า 95% confidence interval เท่ากับ 0.80-1.12; p = 0.55) การเกิดเลือดออกรุนแรงที่นำไปสู่การผ่าตัดซ้ำเกิดขึ้นใน 1.8% ของผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับแอสไพริน และใน 2.1% ของผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก (p = 0.75) โดยพบภาวะบีบรัดหัวใจในอัตรา 1.1% และ 0.4% ตามลำดับ (p = 0.08)

            ข้อมูลจากผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจชี้ว่า การได้รับแอสไพรินก่อนการผ่าตัดไม่ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนของการขาดเลือด ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้ความเสี่ยงเลือดออกสูงขึ้นเมื่อเทียบกับยาหลอก